วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สมเด็จพระเทพฯทรงห่วงภาษาไทย ไม่สุภาพกลายเป็นสุภาพ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานสัมมนาภาษาไทย เนื่องในวาระฉลองยูเนสโกยกย่อง "กรมหลวงวงษาธิราช" เป็นบุคคลสำคัญของโลก ทรงแนะให้ระวังการใช้คำภาษาไทยมีความหมายเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ด้านนักวิชาการ ระบุหลักสูตรภาษาไทย ไม่สอดคล้องกับการสอบโอเน็ต-เอเน็ต เด็กแห่เรียนกวดวิชา

เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 9 กรกฎาคม ที่หอประชุมกองทัพเรือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติงาน ฉลอง 200 ปี วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท และทรงเป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ปัญหาการเรียนการสอนและการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเข้าร่วมฟังการนำเสนอผลงานวิจัยปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสเปิดการสัมมนาทางวิชาการตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในจำนวนไม่มากนักที่มีภาษาของตนเองใช้ และเรียกภาษาของตนเองได้อย่างภาคภูมิว่า ภาษาไทย ตามธรรมชาติภาษาย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตามสถานการณ์ในสังคม อีกส่วนหนึ่งภาษามีความสำคัญถ่ายทอดความรู้ วัฒนธรรมของคนในชาติ การเรียนการสอนภาษาจึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีการสอนภาษามีหลายอย่างหลายทฤษฎี การจะตัดสินว่าแบบไหนดีกว่าต้องพิจารณาสถานการณ์เป็นสำคัญ ซึ่งการมาร่วมสัมมนาในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการเทิดพระเกียรติ ผู้ทรงพระนิพนธ์วรรณคดีและตำราแบบเรียนภาษาไทยไว้เป็นตัวอย่างในการจรรโลง ภาษาไทย จึงควรได้ศึกษาแนวทางของครูภาษาไทยแต่โบราณด้วย

ภายหลังจากรับฟังการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาการเรียนการสอน ภาษาไทยแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสในตอนหนึ่ง ว่า "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงเป็นบรรพบุรุษของข้าพเจ้าด้วย ซึ่งพระองค์ทรงพระนิพนธ์แบบเรียนภาษาไทยจินดามณีที่มีความไพเราะทางภาษาและ วรรณศิลป์ โดยภาษาเป็นเครื่องมือสืบทอดทางวัฒนธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สำหรับปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทยที่ครูได้ตอบแบบสอบถาม พบว่า คนสมัยนี้นิยมมองต่างมุม เช่น ครูภาษาไทยไม่ควรเปลี่ยนแปลงบ่อย ควรนำของเดิมมาใช้ และควรทำให้ทันสมัย ซึ่งเป็นความเห็นที่ถูกต้องของทั้งสองฝ่าย ข้อเสนอบางอย่าง เช่น ควรจะให้ชั้นเรียนมีนักเรียนน้อยๆ ไม่เกิน 50 คนนั้น ลองถามคุณหญิงกษมาว่าทำได้หรือไม่ เพราะทุกวันนี้คนต้องการการศึกษามาก อย่างไรก็ตาม เรื่องการศึกษามักมีอุปสรรคต่างๆ นานา ขอให้อย่าท้อใจ เท่าที่เห็นในถิ่นทุรกันดาร บนยอดเขา ครูก็อุตส่าห์มีใบงาน พิมพ์คอมพิวเตอร์ ต้องนำไปถ่ายเอกสารในเมือง อยากให้นักเรียนมีขอดีเรียน ดูความตั้งใจแล้วน่าสงสาร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสอีกว่า "ข้าพเจ้าขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า บางครั้งก็อย่าไปรังแกเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางภาษา อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวอย่างหนึ่งคือ เราคนแก่ๆ เคยใช้คำนี้ว่าเป็นคำดีใช้ได้ มีความสุภาพ แต่อีกสมัยหนึ่งก็เปลี่ยนไปเป็นคำไม่สุภาพ ความหมายเปลี่ยนไป บางคำที่เป็นคำไม่สุภาพก็กลับเป็นคำสุภาพในสมัยนี้ บางครั้งก็ทำให้ข้าพเจ้าไม่กล้าใช้คำนั้น ไม่รู้ว่าสุภาพหรือไม่สุภาพ เพราะคนเขาจะหัวเราะเยาะ "

รศ.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กราบบังคมทูลรายงานถึงผลการวิจัย เกี่ยวกับนโยบาย ปัญหาการเรียนการสอน และการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันว่า การวิจัยครั้งนี้ ได้สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อุดมศึกษา และบุคคลอาชีพอื่นๆ จำนวน 1,583 คน พบว่า อุดมศึกษามีการพัฒนาบุคลากรด้านภาษาไทยน้อยที่สุด โดยปัญหาการใช้ภาษาไทยที่พบว่า การพูดมีปัญหามากที่สุด คือ พูดไม่ชัด ใช้คำไม่ถูกต้อง และพูดวกวน ส่วนการเขียน ได้แก่ ใช้คำผิดความหมาย การอ่าน ได้แก่ ออกเสียงไม่ถูก จับใจความไม่ได้

นางรื่นฤทัย สัจจพันธุ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยที่มีปัจจัยจากภายนอกว่า ปัญหามาจาก 3 ส่วน ได้แก่ สื่ออินเทอร์เน็ต บุคคลที่มีชื่อเสียง และสื่อมวลชน โดยเฉพาะปัญหาที่มาจากสื่ออินเทอร์เน็ตทำให้การเขียนภาษาไทยบกพร่อง เช่น 555 แทนเสียงหัวเราะ เดวไปเดก่า 4U แทนคำว่า for you ซึ่งคำเหล่านี้เด็กนำมาใช้ในชีวิตประจำวันจนกลายเป็นเรื่องปกติ นำมาเขียนในการบ้านและรายงาน ส่วนดารา พิธีกร มักอ่านคำผิด เช่น คำว่า พระเมรุ กลับอ่านว่า พระ-เม-รุ และอ่าน ฉ ออกเสียงเป็นตัว CH ในภาษาอังกฤษ ส่วนผู้นำประเทศมักใช้คำไทยคำอังกฤษคำ แลใช้คำไม่สุภาพ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งแก้ปัญหา

นายธัญญา สังขพันธนนท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ปัญหาหลักสูตรภาษาไทยระดับมัธยมศึกษานั้นพบว่าไม่สอดคล้องกับการสอบเข้า มหาวิทยาลัย หรือโอเน็ต เอเน็ต ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากไปพึ่งโรงเรียนกวดวิชา ดังนั้นจำเป็นต้องปรับหลักสูตรภาษาไทยให้สอดคล้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่านโยบาย การเปิดสื่อการเรียนการสอนเสรีทำให้โรงเรียนสามารถเลือกแบบเรียนได้อย่าง อิสระ ซึ่งแบบเรียนภาษาไทยที่ภาคเอกชนผลิตขึ้นมาพบว่า ไม่ได้คุณภาพตามหลักวิชาการ แต่ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการของกระทรวงศึกษาธิการและนำออกไปขายใน โรงเรียนชนบทจำนวนมาก และมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสำนักพิมพ์เอกชนกับโรงเรียนที่มีอำนาจในการ คัดเลือกสื่อและแบบเรียนเหล่านี้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น