ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ย้อนอดีตประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย



อยากรู้ไหมว่า รุ่นพ่อ – รุ่นแม่ ดูละครประเภทไหน เรื่องอะไรกันบ้าง ความจริงแล้ว มันก็ไม่ได้แตกต่างจากยุคสมัยนี้มากนัก หากแต่ในสมัยที่ธุรกิจยังไม่แข่งขันกันรุนแรง อาจจะดูมีทางเลือกที่หลากหลายในการชมประเภทของละครต่างๆ มากกว่า


ละครแต่ละช่องประสบความสำเร็จมากหรือน้อยต่างกัน สูตร "แม่ผัว ลูกสะใภ้ เมียน้อย เมียหลวง พ่อตาตาย แม่ยายโง่ หนีผีลงตุ่ม ฯลฯ" อาจจะไม่ใช่สูตรตายตัว แต่มันคือเครื่องปรุงรสของคนทำละคร

เมื่อปี พ.ศ.2545 วารสาร "ภาษาและหนังสือ" ของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เคยจัดทำฉบับพิเศษว่า วรรณกรรมละครไทย มีบทความหนึ่งชื่อ "ละครโทรทัศน์" นำเสนอโดย พินิจ หุตะจินดา จากบทความนี้ทำให้เราทราบเรื่องราวอันเป็นวงจรของเรื่องราวเกี่ยวกับละครไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปี 2545 โดยผู้เขียนแบ่งหัวข้อออกเป็น 3 ยุคใหญ่ๆ ดังนี้

1.ละครโทรทัศน์ยุคแรก (พ.ศ. 2498 – 2510)

2.ละครโทรทัศน์ยุคที่สอง (พ.ศ. 2510 – 2529)

3.ละครโทรทัศน์ยุคที่สาม (พ.ศ. 2530 – 2545)


บันเทิง ASTV ผู้จัดการรายวันได้ตัดทอนรายละเอียดลง คงไว้แต่ส่วนสำคัญและหยิบ "รายชื่อละคร" ในยุคต่างๆ จากงานชิ้นนี้มาเพื่อเป็นกรณีศึกษาแล้วจะเห็นว่า ละครหลายเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่ทุกวันนี้มีมาตั้งแต่แรกในสมัยคลาสสิก พ่อแม่ของเราก็อ่านและดูละคร "เรื่องนี้" มาก่อน เพียงแต่ว่า การดำเนินเรื่องสมัยนั้น กระชับ รวบรัด ละครไม่ได้ยืดได้ หดได้อย่างวันนี้

ทั้งชั่วโมงของละครก็น้อยกว่า แต่ละครมีเนื้อหาหลากหลายกว่า จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อละครก้าวเข้าสู่ยุคธุรกิจอย่างเต็มตัว ค่ายไหน คณะใด เรตติ้งไม่ได้ตามเป้าหมายก็ต้องถูกจับดอง เป็นเหตุให้ผู้จัดบางรายต้องโยกย้ายจากสถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่ง

พ.ศ. 2478 สถานีไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นกิจการวิทยุโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทย โดยบริษัทไทยโทรทัศน์ มีการแต่งตั้ง "จำนง รังสิกุล" ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรายการ ณ ปัจจุบันคือ โมเดิร์นไนน์ทีวี หรือ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. นั่นเอง

พ.ศ. 2501 เปิดสถานีโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 7 (ขาว-ดำ ) มี "พลตรีถาวร ช่วยประสิทธิ์" ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายรายการในสมัยนั้น ปัจจุบันเรารู้จักกันในนาม "ททบ. 5"

พ.ศ. 2510 เปิดสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดย บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ร่วมทุนจัดตั้งกับกองทัพบก

พ.ศ. 2513 เปิดสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 3 อย่างเป็นทางการ โดยบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เข้าร่วมทุนจัดตั้งกับบริษัทไทยทัศน์ซึ่งดำเนินการจัดตั้ง มาตั้งแต่ปี 2510
...
จากบางขุนพรหมถึงช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
บ้านทรายทอง , เคหาสน์สีแดง, วนิดา เป็นนวนิยายของนักประพันธ์ที่ "คณะชื่นชุมนุมศิลปิน" นำมาแปรรูปเป็นละคร ก่อนหน้านี้ ละครโทรทัศน์เรื่องแรกของเมืองไทยคือ "สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน" ของนายรำคาญ (ประหยัด นาคะนาค), เรื่องที่สองคือ ดึกเสียแล้ว ของอุษณา เพลิงธรรม บทประพันธ์อื่นๆ เช่น นิจ, อุบัติเหตุ (ดอกไม้สด), กรรมเก่า, หนึ่งในร้อย, ขุนศึก, ศรอนงค์, พระเจ้าไทยหลวง, ลูกทาส, การะเกด, ละครชวนหัวชุดพ่อท้วมแม่อี๊ด, ละครชุดนุสรา, ทหารเอกพระบัณฑูร, ขุนศึกมหาราช, รอยไถ, แผลเก่า, คมพยาบาท ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาวรรณคดีของชาติต่างๆมาทำเป็นละครด้วย เช่น อุปรากรเรื่อง สามก๊ก ตอน ตั๋งโต๊ะหลงกลเตียวเสี้ยน , ฮวนนั้ง, ฮวนลิฮวยกับซิเต็งซัน, ซูสีไทเฮา, บูเช็กเทียน, ขุนช้างขุนแผน, อิเหนา, ไอด้า, อุปรากรเรื่องนันทาเทวี

ความหลากหลายของละครมาจากความถนัดของงผู้จัดที่แตกต่างกันไป คณะละครในยุคนั้น เช่น คณะนาฏศิลป์สัมพันธ์, คณะพลายมงคล, คณะสุข หฤทัย, คณะสาครภิรมย์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสุภาพสตรี), คณะกัลชลิกา, คณะอารีวัลย์, คณะวิชชุประภา, คณะวิม อิทธิกุล เป็นต้น

ต่อมาประเทศไทยเปลี่ยนเป็นระบบโทรทัศน์สี ทั้ง 2 สถานีได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ ช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ส่วนกองทัพบกช่อง 7 (ขาว-ดำ) เป็นสถานีโทรทัศน์สี กองทัพบกช่อง 5 ละครของช่อง 4 เดิมยุคจำนง รังสิกุล ดำเนินมาถึงปี 2511 เมื่อพ้นตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายรายการ บรรดาพนักงานที่มีความสามารถและคณะละครที่ผูกพันกับ "หัวหน้า" ต่างตัดสินใจลาออกตามเป็นส่วนใหญ่ คงเหลือผู้จัดเพียงส่วนหนึ่งและเพิ่มผู้จัดหน้าใหม่เข้าไป ละครในยุคนี้ เช่น

ขมิ้นกับปูน, อีสา , หลง, สาวแก่, หลานสาวคุณหญิง, พรหมไม่ได้ลิขิต, ชลาลัย, กุหลาบไร้หนาม, สามอนงค์, บันไดเมฆ, สวรรค์เบี่ยง, เดือนครึ่งดวง, วิมานไฟ, ปูนปิดทอง, สายใจ, หนี้รัก, พ่อปลาไหล, เพลงชีวิต, แก้วกลางดง, มณิมนตรา, หัวใจปรารถนา-อาณาจักรใจ, ทัดดาวบุษยา, พรหมพยศ, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, มายา, บ้านทรายทอง, รักประกาศิต, ภูชิชย์-นริศรา, เขมรินทร์-อินทิรา

เจ้าสาวคืนเดียว, มนุษย์, รักริมทาง, คมพยาบาท, นางครวญ, นางฟ้าซาตาน, ความรักสีดำ, เมื่อรักร้าว, ชลธีพิศวาส, ลานภุมรา, น้ำผึ้งขม, ระฆังวงเดือน, ทำไม, เมียหลวง", น้ำเซาะทราย, เพลิงกินรี, วิมานไฟ, อีสา, คนบาป, แม่ม่าย, ประทีปอธิษฐาน, เมืองแก้ว

เครื่องแบบสีขาว, บ้านทรายทอง, ดอกฟ้า-โดมผู้จองหอง, ริมฝั่งแม่ระมิงค์, คุ้มผาคำ, ค่าของคน, อุบัติเหตุ (ทมยันตี), ร่มฉัตร, น้ำตาพระจันทร์, มฤตยูสีขาว, ต้อยติ่ง, ข้องจิต- นางไพร, จำเลยรัก", ป่ากามเทพ, สงครามเย็น, ฝ้ายแกมแพร, ภูตพิศวาส", กรงทอง เป็นต้น
...
ช่อง 7 (ขาว – ดำ) ถึงยุค ททบ. 5
ส่วนสถานีโทรทัศน์ กองทัพบกช่อง 7 (ขาว-ดำ) ในยุคแรกนั้น มีทั้งผู้จัดรายใหม่และผู้จัดจากช่อง 4 บางขุนพรหมที่ไปเช่าเวลา คณะละครของช่อง 7 (ขาว – ดำ) เช่น คณะชื่นชุมนุมศิลปิน, คณะสุพรรณ บูรณพิมพ์, คณะศรีไทยการละคร, คณะไททรรศน์, คณะเกียรติแก้ว, คณะม.จ.ไกรสิงห์ วุฒิชัย, คณะพจนาภิรมย์ ละครที่จัดแสดงในยุคนี้ เช่น สี่แผ่นดิน, ทับนาง, โรสิตา, อะบูฮาซัน, ผู้ชนะสิบทิศ, คุณหญิงพวงแข, เสือเก่า, ลมพัดชายเขา,ตุ๊กตายอดรัก เป็นต้น จนถึงสมัยที่เปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์สี ททบ. 5 มี รัชฟิล์ม โดย พ.ท. พยุง พึ่งศิลป์เข้ามาเสริมกับคณะละครเดิมที่มีอยู่

ภาพยนตร์โทรทัศน์เด่นๆ เช่น หุ่นไล่กา, ชุมทางชีวิต, พิภพมัจจุราช, เพื่อมาตุภูมิ, เจ้าต๋องจอมยุ่ง, แก้วขนเหล็ก – จอมเมฆินทร์, อนิลทิตา, ตะวันขึ้นที่อ่าวพังงา, สนิมสังคม, คุณผู้หญิง, ทับถวิล, รักคืนเรือน, บ่วงเสน่หา, หอขวัญ, สองพธู, ลูกกรอก, บ้านสาวโสด, สะใภ้สลัม, นางสาวทองสร้อย, ขอจำจนวันตาย, ไม่เคยมีใครรักฉันจริง, ฝันกลางฤดูฝน, พระจัทร์หลงเงา, เสื้อเปื้อนฝุ่น, หลังคาใยบัว, ไฟหนาว, รอยลิขิต, จารชนยอดรัก, ไฟสุมขอน, รักในสายหมอก, ไปสู่ฉิมพลี หรืออย่างวรรณคดีบางเรื่อง เช่น กนกนคร, กากี, พิมพิลาไลย ฯ

คณะสุพรรณ บูรณะพิมพ์ เปลี่ยนมือเป็น "พิมพ์พรรณ บูรณพิมพ์" ละครยุคนี้ เช่น สี่แผ่นดิน, ที่รักอย่าร้องไห้, อังสนาหย่าผัว, ตึกฝรั่ง, ทิพย์, ผู้พิชิตมัจจุราช, รอยรัก เป็นต้น

กนกวรรณ ด่านอุดม จากช่อง 9 อ.ส.ม.ท. มาเป็นผู้จัดช่อง 5 ในนามของ "รัศมีดาวการละคร" ละครที่โด่งดังที่สุดของเธอชุด ผู้กองยอดรัก ได้แก่ "ผู้กองยอดรัก – ยอดรักผู้กอง – ผู้กองอยู่ไหน" ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น ทิวาหวาม, เลือดขัตติยา, ผู้ชนะสิบทิศ, ศิวาราตรี, แววมยุรา, ละอองดาว, สี่แผ่นดิน, ในฝัน, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, น้ำผึ้งขม, ระฆังวงเดือน, สายรุ้ง, ค่าของคน, ดาวเรือง, สิ้นสวาท, อย่าลืมฉัน, เดชแม่ยาย, น้ำเซาะทราย, วงเวียนชีวิต, จ้อนกับแดง, เกียรติศักดิ์ทหารเสือ, ดรรชนีนาง, ในม่านเมฆ,หัวใจเถื่อน, สลักจิต, ทิวาหวาม,จำเลยรัก, ชื่นชีวานาวี, ขุนศึก, เคหาสน์สีแดง ฯลฯ

ปนัดดา กัลย์จาฤก ในนามคณะส่งเสริมศิลปิน มี บ้า, 38 ซอย 2, บาปบริสุทธิ์, สวนทางเถื่อน, เจ้าซอใจซื่อ, หางเครื่อง, แม่น้ำ, แม่เอิบ, ตี๋ใหญ่ เป็นต้น

ศรีไทยการละครของเทิ่ง สติเฟื่อง เช่น ปราสาททราย, ชุมทางรัก, ไปสู่ฉิมพลี, ลูกหว้า, คุณหญิงนอกทำเนียบ, รอยมลทิน, คู่กรรม, เมียน้อย, พิศวาส, รัศมีจันทร์, ป่านี้ไม่มีผู้ชาย, เชลยศักดิ์, เดือนดับที่สบทา, แสงสูรย์, ประสาทมืด, ทางโค้ง, อีสา, เรือมนุษย์, ผมไม่อยากเป็นพันโท, พรหมประพาส, พาร์ทเนอร์, มนต์รักอสูร เป็นต้น
...
ละครช่อง 7 สี ยุคบุกเบิก
สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สีในยุคก่อตั้งมีคณะละครเพียงไม่กี่คณะ เช่น คณะดาราฟิล์ม, คณะกันตนา, คณะอิทรวิจิตรภาพยนตร์, คณะพร้อมมิตรภาพยนตร์, คณะไชโยภาพยนตร์, คณะสมพงษ์ พงษ์มิตรและคณะที่สถานีโทรทัศน์ผลิตเอง คือ คณะชัชฎาภรณ์ รักษณาเวศ (นักร้องเจ้าของเพลงรางวัลชีวิต, บัญชารัก เป็นภรรยาของ พันโทชายชาญ เทียนประภาส ต่อมา พันโทชายชาญถูกมือปืนยิงเสียชีวิตด้วยปืน 11 ม.ม. ระหว่างเดินทางไปเปิดสถานีดาวเทียมย่อยที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2523) โดยคณะนี้จะมีละครออกอากาศเดือนละครั้ง ทุกวันอาทิตย์ เวลา 22.00 – 24.00 น. ขณะที่คณะละครอื่นๆ มีเวลาหลายช่วงในการออกอากาศ เช่น 19.30 – 20.00 น. , เวลา 20.30 – 21.00 น. และเวลา 22.00 – 24.00 น.

ดาราฟิล์ม ภายใต้การดูแลของไพรัช สังวริบุตร เป็นคณะแรกที่เริ่มงานละครพร้อมกับการเปิดสถานี ระยะแรกทำละครจักรๆวงศ์ๆ ละครเรื่องแรกคือ "ปลาบู่ทอง" ลงทุนด้วยเงินเพียง 8 พันบาท / ตอน เรื่องอื่นๆ เช่น โกมินทร์, ยอพระกลิ่น,อุทัยเทวี, บัวแก้วบัวทอง, นางสิบสอง, ขุนแผนผจญภัย, มนุษย์ปักษี, แก้วหน้าม้า, กัญหา – ชาลี, ทาษวังหลัง, ฝนสามฤดู, พิกุลทอง, ลักษณวงศ์, แก้วพิสดาร, พานทองรองเลือด,พระทิณวงศ์ ต่อมาการสืบทอดละครประเภทนี้เป็นของบริษัท คือ สยามฟิล์ม และสามเศียรตามลำดับ เหตุที่ที่ไพรัช สังวริบุตรยังคงละครประเภทนี้อยู่ถึงทุกวันนี้ เพราะมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ศิลปะพื้นบ้าน ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี วรรณคดีไทยไว้ ละครจักรๆวงศ์ๆในรุ่นถัดมา เช่น ขวานฟ้าหน้าดำ, สี่ยอดกุมาร, สิงหไกรภพ, มณีนพเก้า, น้ำใจแม่, จันทโครพ, เกราะเพชรเจ็ดสี, ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง, เทพศิลป์ – อินทรจักร, ดิน – น้ำ- ลม – ไฟ, เวสสันดรชาดก, มโหสถชาดก, วงษ์สวรรค์ ฯลฯ

ขณะเดียวกันก็ดำเนินงานการผลิตละครร่วมสมัยไปด้วย มีทั้งการนำบทประพันธ์มาจากนักเขียนมาแปรรูป รวมถึงบางเรื่องก็ใช้วิธีการสร้างพล็อตเอง เช่น แก้วนพเก้า, กระสือ, ปอปผีฟ้า, ห้องหุ่น, ปู่โสมเฝ้าทรัพย์, เทวรูปแมว, ศีรษะมาร, อีสา, ขมิ้นกับปูน, กนกลายโบตั๋น, ปราสาทมืด, ริษยา, กิ่งไผ่, ตุ๊กตา, ดาวพระศุกร์, ดอกโศก, ภาพอาถรรพณ์, คมพยาบาท, กฎแห่งกรรม, มนุษย์ประหลาด, บ้านทรายทอง, กิ่งมัลลิกา, เมียหลวง, คู่กรรม, แม่นากพระนคร, แม่นากพระโขนง, แก้วสารพัดนึก, เงา, ละอองดาว, มัสยา, บ้านสอยดาว, ทองเนื้อเก้า, ตราไว้ในดวงจิต, หลวงตา, ไผ่แดง, โอ้...มาดา, หัวใจสองภาค ฯลฯ
...
ช่อง 3 มาแล้ว
เมื่อช่อง 3 เปิดสถานี ผู้จัดคณะแรกที่เข้าไปทำละครคือ ศรีไทยการละคร ละครเรื่องแรกๆ ที่ประเดิมการเปิดสถานีไทยทีวีสีช่อง 3 คือ เขมรินทร์ – อินทิรา, แม่หญิง, สะใภ้จ้าว แต่ละครในยุคนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ช่อง 3 มาเปิดละครสมัยใหม่อย่างจริงจังในปี 2519 เมื่อภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ (มีชูธน) เข้ามาปฏิวัติการแสดงละครแบบเก่าจากที่มีคนบอกบท เป็นนักแสดงท่องบทเอง รูปแบบของละครใกล้เคียงกับละครสมัยใหม่อย่างต่างประเทศ ภัทราวดี นำบทประพันธ์ เรื่อง ไฟพ่าย ของกฤษณา อโศกสิน มาประเดิมเป็นเรื่องแรก แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนทิศทางละครด้วยการคิดพล็อตเอง เช่น ขบวนการคนใช้, ตุ๊กตาเสียกบาล, สงครามปราสาท, นานาจิตตัง, ประชาชนชาวแฟลต, ศรีธนนชัย, ละครชุด ความรัก, ปะการังสีดำ (เรื่องนี้ซื้อบทประพันธ์มาจากประดิษฐ์ กัลย์จาฤก)

ต่อมามีผู้จัดรายอื่นๆ เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ, รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช, วรายุฑ มิลินทจินดา, สมชาย นิลวรรณ, อดุย์ กรีน, ถาวร สุวรรณ, วรยุทธ พิชัยศรทัต, เริงศิริ ลิมอักษร, อมรา พรหมโมบล, ศิริพร วงศ์สวัสดิ์, ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ฯลฯ ซึ่งต่างผลิตละครออกมาหลากแนว อาทิ นางทาส, อีแตน, คำพิพากษา, ม่าย, หมาๆ แมวๆ, เศรษฐีอนาถา

เขาชื่อกานต์, คนเริงเมือง, เก้าอี้ขาวในห้องแดง, ด้วยปีกของรัก, ไฟรัก, แม่กระเชอก้นรั่ว, เขี้ยวพิษ, สิคีริยา, ปมพิศวาส, ดอกฟ้า-โดมผู้จองหอง, ห้องที่จัดไม่เสร็จ, ปริศนา, คลื่นเสน่หา, วิหคหลงรัง, บ้านขนนก, ดอกหญ้า-ดวงตาสวรรค์, ไม้ผลัดใบ, ถนนไปดวงดาว, ตุ๊กตามนุษย์, น้ำตาลไหม้, เงา, นางเอก, สายรุ้ง

เลือดขัตติยา (แต่ไม่ได้ออกอากาศ), กฤตยา, มงกุฎฟาง, สามีตีตรา, หมูแดง, ขุนศึก, ฉุยฉาย, นางสาวโพระดก, อาญารัก, สงครามเก้าทัพ, สายโลหิต, สมเด็จพระสุริโยทัย, ทหารเสือพระเจ้าตาก, ทะเลเลือด, กำแพงหัวใจ, แก้วตาพี่ ฯลฯ ละครเหล่านี้ได้รับความนิยมจากคนดูเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชนในขณะนั้น

เลยกลายเป็นว่ามีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายคนดูละครของสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ เป็นคนในกรุงเทพฯที่มีระดับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ไปโดยปริยาย ต่อมามีการเพิ่มคณะผู้จัดละครหน้าใหม่มากขึ้น โดยก่อนปี 2545 ช่อง 3 มีละครที่อยู่ในความทรงจำ ดังนี้

สี่แผ่นดิน, ร่มฉัตร, พ่อปลาไหล, ทรายสีเพลิง, ไอ้คุณผี, แม่พลอยหุง, เมียน้อย, รอยอินทร์, โสมส่องแสง, ผู้ชนะสิบทิศ, สี่แยกนี้อายุน้อย, เมียหลวง, เรือมนุษย์, ลายหงส์, ถ่านเก่าไฟใหม่, พลิงบุญ, ไฟในทรวง, เก้าอี้ขาวในห้องแดง, ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ, จินตปาตี

บ้านทรายทอง, ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก, ปลาหนีน้ำ, ตกกะไดหัวใจพลอยโจน, ไฟโชนแสง, ทางผ่านกามเทพ, ตี๋ใหญ่, ปีกมาร, บ่วง, บุญรอด, จากฝันสู่นิรันดร, น้ำใสใจจริง, เส้นไหมสีเงิน, ปลายเทียน, รือนมยุรา, เรือนนพเก้า, ผู้กองยอดรัก-ยอดรักผู้กอง, ๕ คม, เจ้ากรรมนายเวร, นิราศสองภพ, แผลเก่า

ขมิ้นกับปูน, อาญารัก, นางเสือดาว, ลางลิขิต, ไอ้ม้าเหล็ก, คู่แท้สองโลก, ฟ้าหลังฝน, มนต์รักอสูร, อุ้งมือมาร, เวลาในขวดแก้ว, สุดถนนบนทางเปลี่ยว, นางโจร, กระท่อมแสงเงิน, วิวาห์สลับรัก, สะใภ้ไร้ศักดินา, เจ้าสาวสองเงา, เพลิงรักเพลิงแค้น, นิจ, ไฟล้างไฟ, พุทธานุภาพ, วิมานดิน (วราภา) ฯลฯ
...
ละคร 7 สี ยุคสุรางค์ เปรมปรีดิ์
เมื่อปี 2524 สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เข้ามาดูแลด้านการตลาด, ฝ่ายรายการและฝ่ายบุคคล และชวนเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งคือ ท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคคล มาร่วมหุ้นเปิดบริษัทพร้อมมิตรภาพยนตร์ เพื่อผลิตละครโทรทัศน์และภาพยนตร์

ละครในยุคแรกที่สุรางค์ เปรมปรีดิ์ หมายตาไว้ ไม่ใช่สูตรน้ำเน่าอย่างทุกวันนี้ ผลงานละครและภาพยนตร์ในช่วงนี้คือ เช่น หญิงก็มีหัวใจ, ห้องสีชมพู, เงือกน้อย, จดหมายจากเมืองไทย, ห้วงรักเหวลึก, ข้าวนอกนา และละครชุดที่โด่งดังมากคือ "หมอผี" เนื่องจากสุรางค์ เปรมปรีดิ์ เคยเป็นหุ้นส่วนของสตรีสารมาก่อน ดังนั้น...นวนิยายและนักเขียนชั้นดีจึงอยู่ในความคิดอ่านของเธอมาแต่แรก

การดึงวาณิช จรุงกิจอนันต์มาช่วยช่อง 7 สี เขียนบทโทรทัศน์ในยุคแรกๆ ของสุรางค์ หรือแม้แต่การบวกภาษี ณ ที่จ่ายเพิ่มให้จากค่าลิขสิทธิ์ก็ดี เป็นสำนึกที่เคยร่วมงานกับนักเขียนมาตั้งแต่ในยุคสตรีสารทั้งสิ้น ความจริงอีกด้านหนึ่งของละครตลาด สุรางค์ เปรมปรีดิ์ น่าจะได้รับได้รับการถ่ายทอดและซึมซับมาจากไพรัช สังวริบุตร ผู้บุกเบิกละครคณะแรกของช่อง 7 สี คณะอื่นๆ เช่น กันตนา ได้นำเอานวนิยายจากนักเขียนชื่อดัง และนำเอาบทละครวิทยุที่ "ประดิษฐ์ – สมสุข กัลย์จาฤก" ร่วมกันเขียนไว้มาแปรรูปเป็นละคร ผลงานเช่น บันทึกรักพิมพ์ฉวี, เพชรตาแมว, สุรีรัตน์ล่องหน, แฝดล่องหน, ผู้หญิงคนหนึ่ง, ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด, น้ำเซาะทราย เป็นต้น

นับแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ถือเป็นยุคธุรกิจละครเต็มรูปแบบที่วัดความสำเร็จด้วยเรตติ้ง ช่อง 3 หรือ ช่อง 7 สี ระดมมีผู้จัดใหม่ๆ มากหน้าหลายตาเข้ามาร่วมผลิตละคร ละครโทรทัศน์ช่อง 7 สีในยุคธุรกิจเต็มตัว ระหว่างปี 2530 – 2545 ประกอบด้วย นางทาส, เคหาสน์สีแดง, ปราสาทมืด, กิ่งไผ่, ริษยา, กนกลายโบตั๋น, สายโลหิต, ญาติกา, รัตนโกสินทร์, สองฝั่งคลอง, นิรมิต, เบญจรงค์ห้าสี, น้ำใสใจจริง

คู่กรรม, อุ้มบุญ, คุณหญิงนอกทำเนียบ, พี่เลี้ยง, ทวิภพ, ดั่งดวงหฤทัย, แม่หญิง, หมูแดง, โดมทอง, วันนี้ที่รอคอย, ตองหนึ่ง, คือหัตถาครองพิภพ, แผลเก่า, พรพรหมอลเวง, มงกุฎดอกส้ม, แม่ยังไม่กลับมา, ท่อนแขนนางรำ, นางทิพย์, จากฝันสู่นิรันดร, มะเมี๊ยะ, ดรรชนีนาง, ลอดลายมังกร, ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน, ชิงช้าชาลี, กระท่อมไม้ไผ่

อรุณสวัสดิ์, ลูกแม่, มุกดามะดัน, ไม้อ่อน-สมการวัย, สารวัตรใหญ่, สงครามเงิน, เสราดารัล, มายาตะวัน, ไม้ดัด, เถ้ากุหลาบ, เลื่อมสลับลาย, น้ำเซาะทราย, เรือนแรม, อังกอร์, โนราห์, อตีตา, รากนครา, เมขลา, ทิพยดุริยางค์, ใครกำหนด, น้ำเซาะทราย, งาอโศก, ปริศนา, คุณชาย

เก็บแผ่นดิน, ทอง, พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ, คมพยาบาท, สาวน้อย, คนละโลก, อย่าลืมฉัน, หงส์ฟ้ากับสมหวัง, รักเกิดในตลาดสด, บ่วงบรรจถรณ์, เพชรตัดเพชร, จอมคนปล้นผ่าโลก, จิตสังหาร, ปีกทอง, พันท้ายนรสิงห์, มายา, ตะวันทอแสง, หาดหรรษา

สาวน้อยในตะเกียงแก้ว, รุ่งทิพย์, หัวใจไกลปืนเที่ยง, ยอดรักร้อยล้าน, พลอยล้อมเพชร, เงิน เงิน เงิน, นางมาร, สามหนุ่มสามมุม, หน้ากาก, นางฟ้าสีรุ้ง, ระนาดเอก, แก้วจอมแก่น, บ้านพิลึก, บ้านของพรุ่งนี้, แก้วตาดวงใจ, เรือใบไม้, ชมพูเบิกฟ้า, พันหนึ่งราตรี, อินทรีแดง, ทายาทป๋องแป๋ง, สาวน้อยร้อยมายา, ชีวิตเปื้อนฝุ่น, พิศวาสอลเวง, ดุจฟ้าไร้ดาว, แม่ย่านาง

บ้านไร่เรือนตะวัน, ต้นรัก, พรหมพาล, ตามรักตามล่า, โก๋กี๋ตี๋หมวย, พลับพลึงสีชมพู, แม่มดเจ้าเสน่ห์, กองร้อย ๕๐๑, ลูกหลง, รอยไถ, น้ำพุ, เทพีเจ้าสังเวียน, นางสาวทองสร้อย, สามวัยอลเวง, บัวแล้งน้ำ, บัวกลางบึง, ไฟสิ้นเชื้อ, คำมั่นสัญญา, ต่างเวลา, มหัศจรรย์แห่งรัก, ลูกบ้า…บ้า…บ้า…เที่ยวล่าสุด ฯ

รายชื่อละครจากสถานีโทรทัศน์ในช่องต่างๆเท่าที่บทความเรื่อง "ละครโทรทัศน์" ได้รวบรวมไว้ ทำให้เรารู้ว่า ไม่ว่าสูตรละครจะถูกเขย่าไปในทิศทางไหนก็ตาม แต่งานเขียนของนักประพันธ์กลุ่มหนึ่งยังจะได้รับการเวียนกลับมาทำละครอยู่อย่างซ้ำซากทุกๆ 10 ปี (โดยประมาณ)

นอกจากนั้น กลุ่มงานที่เป็นแนวนิยมตามยุคสมัย ก็จะหมุนเวียนกันตามความเหมาะสม ในอดีต อาจจะเป็นยุคทองของนักเขียนรุ่นใหญ่ที่ได้รับการคัดเลือกงานเป็นละคร แต่ ณ วันนี้ เมื่อนักเขียนรุ่นกลางได้เข้ามาแทนที่ แม้ประสบการณ์และฝีมือทางวรรณศิลป์อาจจะไม่ชัดจ้าน และเรื่องราวที่มีความร่วมสมัยนั้นได้รับการตอบรับ การคัดสรรจากผู้จัดฯ ให้เป็นละครโทรทัศน์อยู่หลายเรื่องและบ่อยครั้ง

ในความทรงจำกับละครเหล่านี้ คุณเคยประทับใจเรื่องไหนเป็นพิเศษมั้ย!?

( คัดลอกจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น