ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

จ่ายงเสื่อคล้า จากหนังสือ ศาลไทยในอดีต


หนังสือ ศาลไทยในอดีต ที่ประยุทธ สิทธิพันธ์ เรียบเรียง เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน ที่ สวก.แนะนำครับ

เนื้อหาในเล่ม หลากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาในระบอบยุติธรรม สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ตั้งแต่คดีมโนสาเร่ ไปจนถึงคดีครึกโครม เป็นคดีความเมืองระหว่างประเทศ

แต่เรื่อง "ขุนนางขโมยเสื่อ" มีเนื้อเรื่องสั้นๆ ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นคดี

เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ผ่านกระบวนการของศาล แต่เป็นเรื่องเฉพาะพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงดำรงเป็นอธิบดีกรมท่า

วันหนึ่งทรงทอดพระเนตรเห็นจ่ายง มหาดเล็ก พนักงานดูแลตรวจตราพระที่นั่งจักพรรดิพิมาน ลอบลักตัดเสื่อคล้าลวดของหลวง ที่เหลือปูพรมพระที่นั่ง ม้วนแล้วให้บ่าวแบกไปปูเรือนของตน

แม้ดำรงพระเกียรติยศ พระเจ้าลูกยาเธอ ก็หาได้กริ้วกราดมากมายแต่ประการใดไม่

เป็นแต่รับสั่งอย่างลับๆ กับพระยาเกษตรรักษา ซึ่งต่อมาเป็นพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ว่า

"จ่ายงเป็นขุนนางมือกาวใช้ไม่ได้ หาสมควรจะเป็นขุนน้ำขุนนางกับเขาไม่"

ไม่มีบันทึกว่า เป็นเพราะเหตุใดจึงไม่ทรงเอาเรื่องเอาราวเสียทันที หรืออาจเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้น ยังไม่เป็นโอกาสให้แสดงพระราชอำนาจ

ครั้นเมื่อพระองค์ท่านได้เสวยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาผ่านไปแม้จะเนิ่นนาน เมื่อเห็นหน้าจ่ายง มหาดเล็ก ก็ทรงจำความเก่าได้

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งว่า

"อ้ายจ่ายง เป็นขุนนางมือไวใจเร็ว จะเลี้ยงดูอุปถัมภ์หาสมควรไม่"

แล้วก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ถอดจ่ายงผู้มีสันดานเสีย ออกจากตำแหน่ง

เรื่องการปลดจ่ายง เป็นข่าวอื้อฉาว เล่าลือกันกว้างขวางในสมัยนั้น ผู้คนที่รู้จักจึงให้ชื่อใหม่ว่า

คุณจ่ายงเสื่อคล้า

ชื่อเดิมจ่ายง คือ "นายมีกุ้ง" คนที่รู้จักชื่อเดิมก็เรียกว่า นายกุ้งเสื่อคล้า

ผู้ที่บันทึกเรื่องจ่ายงเสื่อคล้า น่าจะรู้ข้อมูลวงศ์วานว่านเครือของจ่ายงดี ว่ามีความผูกพันกับผู้มีอำนาจวาสนา ต่อมาแตกหน่อขยายกอออกไปกว้างขวางใหญ่โต

ลูกหลานเหลนของนายกุ้ง บางคนเป็น หมื่น ขุน หลวง พระ

บางคนได้ดีเป็นถึงพระยา

ผู้บันทึกเรื่องนี้วิจารณ์ว่า บรรดาลูกหลานเหลน คงมีกมลสันดานดี ไม่มีนิสัยหัวขโมยเหมือนจ่ายงเสื่อคล้า คนมือไวใจเร็วแต่เคราะห์ร้าย ที่ขโมยให้ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเห็น

ข้อสังเกต รัชกาลที่ 3 ทรงใช้คำเรียกจ่ายง คำแรกว่า ขุนนางมือกาว ทรงใช้คำต่อมาว่า ขุนนางมือไวใจเร็ว อันเป็นกิริยาของพวกหัวขโมย ถ้าเป็นสมัยต่อมา คงเป็นนิสัยเดียวกับพวกขุนนางสมัยใหม่

ที่ใช้วิธีขโมยซับซ้อนที่เรียกว่า...ฉ้อราษฎร์บังหลวง

ขุนนางพวกนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนสมัยไหน ถ้ามีประจักษ์ หลักฐานชัดเจน ศาลท่านไม่ปล่อยให้ลอยนวลหรอกครับ

ถ้าสำนวนสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ต้องใช้ว่า "จะเลี้ยงดูอุปถัมภ์หาสมควรไม่".

กิเลน ประลองเชิง

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้จักเช่นกันครับผม , ไม่ได้เข้ามานานมากครับ แล้วจะแวะมาติดตามนะครับผม (เจอบล็อกของคุณน่าสนใจดีครับ :D) , karmanatta ตอนนี้ผมคงเน้นอัพบล็อกนี้เป็นหลักครับ แวะเวียนมาเยี่ยมชมได้นะครับ เจริญในธรรมครับ ขอธรรมคุ้มครอง:D

    ตอบลบ