ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เรื่องของสะพานพระอร่ามที่คุระบุรี (ตำนานเหมืองโชน)



ในหนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 3 ได้กล่าวถึงวัดนางย่อน ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2345 ซึ่งแสดงถึงบริเวณนี้คงเป็นชุมชนหนึ่งที่มีการรวมตัวกัน และมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนจนมั่นคงพอควรจึงมีการสร้างวัดขึ้นในชุมชน เพื่อเป็นศูนย์รวมของชุมชนแหล่งนี้

พงศาวดาเมืองถลาง เขียนเมื่อ พ.ศ.2384 ได้กล่าวถึงหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตก ดังนี้ ...ชื่อว่าแปดหัวเมืองนั้น เมืองถลาง เมืองภูเก็ต เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองก็รา เมืองพังงา เมืองคุระ เมืองคุรอด ประมวญเป็นแปดเมือง เมืองก็รา พังงา คุระ คุรอด ขึ้นกับเมืองตะกั่วป่า ... (ปัญญา ศรีนาค. 2546 : 6)

เหตุการณ์ที่ต้องกล่าวถึงของอำเภอคุระบุรี คือการทำเหมืองแร่ดีบุกของพระอร่ามสาครเขตร์ บนเขาโชน เรียกกันว่า เหมืองโชน ที่มีอายุประมาณ 100 ปีมาแล้ว ในที่นี้ขอกล่าวถึงประวัติของพระอร่ามสาครเขตร์พอสังเขป ดังนี้ พระอร่ามสาครเขตร์เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2422 ที่ตำบลเหนือ อำเภอทุ่งคา (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง) จังหวัดภูเก็ต เป็นบุตรคนที่ 4 ของขุนอร่ามสาครเขตร์ (ตันหงิมจ้าว) ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่เดินทางมาแสวงโชคและสร้างฐานะร่ำรวมจากการทำเหมืองแร่ ท่านได้ไปศึกษาภาษาอังกฤษที่เกาะปีนัง และเดินทางกลับมารับช่วงกิจการเหมืองแร่สืบต่อจากบิดาจนเป็นคหบดีผู้มั่งคั่งตระกูลหนึ่งของภูเก็ตเมื่อกว่า 100 ปี มาแล้วรับบรรดาศักดิ์ในปลายรัชกาลที่ 5 เป็น หลวงอร่ามสาครเขตร์ และท่านได้รับพระราชทานนามสกุล ตัณฑัยย์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นอำมาตย์ตรี พระอร่ามสาครเขตร์(ชื่อเดิม คือ ตันเพ็กฮวด ตัณฑัยย์)

พระอร่ามฯ ท่านเป็นนักบุกเบิกผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่เดินทางค้นหาแหล่งแร่ดีบุก เป็นภารกิจสำคัญและเป็นภาระที่หนักหน่วง ด้วยการคมนาคมเมื่อกว่าร้อยปีก่อน คงไม่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน ด้วยความมุ่งมั่นอุตสาหะ ฟันฝ่าอุปสรรคนานาประการทำให้ท่านค้นพบเหมืองโชน เป็นแหล่งแร่ดีบุกขนาดใหญ่บนเขาแก้ว ซึ่งเทือกเขาแก้วเป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ ที่มีความสูงประมาณ 3,500 ฟุต มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนองและพังงา ด้วยสัญชาติญาณ และประสบการณ์ในการทำเหมืองแร่ ท่านให้ความเห็นว่าแหล่งแร่ดีบุกบนเขาแก้วต้องเป็นแม่แร่ที่เป็นต้นกำเนิดบนพื้นดิน โดยแม่แร่บนภูเขาถูกน้ำชะพังทลายลงมาเป็นลานแร่ด้านล่างก้อนแร่ที่ขุดพบในรุ่นแรกๆ จะเป็นก้อนดีบุกล้วนๆ ขนาดโตเท่ากำปั้น ไม่ต้องสกัดหรือทำอะไรทั้งสิ้นเหมืองโชนควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกไทย

หลังจากสิ้นบุญพระอร่ามฯ กวนฮก ตัณฑัยย์ ลูกชายคนที่ 2 ของท่าน ซึ่งจบวิชาการทำเหมืองแร่จากCambrige School of Mines ประเทศอังกฤษ มารับช่วงการทำเหมืองโชนต่อ ขณะนั้นแม่แร่เริ่มหมดทำให้ต้องผ่านกรรมวิธีสกัด ใช้เครื่องแยกแร่ ผ่านหลายขั้นตอน ต้นทุนการผลิตก็สูงไปด้วย กอปรกับเส้นทางขึ้นเหมืองโชนทุรกันดาร การขนส่งอุปกรณ์ทำเหมืองและลำเลียงแร่ลงจากเขา ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่คุ้มกับการทำเนินการต่อ จึงจำเป็นต้องปิดเหมืองโชน ที่ดินทำเหมืองตกทอดมาอยู่ในความดูแลของนายกวนฮก ตัณฑัยย์

เหมืองโชน เป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ของแหล่งแร่ดีบุกในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศชาน และเชื่อมโยงมาถึงการขุดหาแร่ในทะเล โดยในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐปกครองบ้านเมืองในปี พ.ศ.2506 ได้ปรับปรุงกรดโลหกิจมาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า กรมทรัพยากรธรณี ทั้งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเหมือแร่ โดยถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในการนำมาพัฒนาประเทศ จึงได้จัดตั้งบริษัทเหมืองแร่บูรพาเศรษฐกิจขึ้น เพื่อดำเนินกิจการด้านเหมืองแร่โดยเฉพาะ มีนายไสว ทรัพย์เสริมศรีเป็นผู้จัดการ ผู้ถือหุ้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประพาส จารุเสถียร และพลเอกละหม้าย อุทยานนท์ ซึ่งผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้ยินกิตติศัพท์ของเหมืองโชน จึงเริ่มงานชิ้นแรกของบริษัทฯ ด้วยการซื้อกรรมสิทธิ์เหมืองโชนเป็นมูลค่าถึง 10 ล้านบาทจากนายกวนฮก ตัณฑัยย์ โดยมีนายเจียร วานิชเป็นผู้ประสานงาน และได้ว่าจ้างศาสตราจารย์เป้า ขำอุไร จบการศึกษาจาก Colorado School of Mines ประเทศสหรัฐอเมริการ นับเป็นเกียรติประวัติของเหมืองโชนที่ได้คนดีมีความรู้ความสามารถมาดำเนินกิจการถึง 2 คน คนแรก คือ นายกวนฮก ตัณฑัยย์ บุตรชายของพระอร่ามฯ คนที่ 2 คือ ศาสตราจารย์เป้า ขำอุไร บุคคลทั้งสองได้ร่ำเรียนวิชาการทำเหมืองแร่มาจากต่างประเทศ นับว่าเป็นทรัพยากรบุคคลที่วงการเหมืองแร่ไทยจะต้องจารึกชื่อในประวัติศาสตร์ ฐานะที่นำความรู้ที่ทันสมัยมาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและนำมาซึ่งความเจริญทางเศรษฐกิจนานัปการ

การเดินทางขึ้นเหมืองโชนในสมัยก่อนเป็นสุดยอดของเส้นทางที่ทุรกันดาร ด้วยภูมิประเทศเหมืองโชน ตั้งอยู่บนเขาแก้ว เริ่มต้นการเดินทางจากการนั่งเรือยนต์จากอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ไปเขาเกาะคอเขา ออกทะเลแล้วขึ้นไปทางเหนือ เข้าคลองนางย่อน ขึ้นบกแวะพักบ้านนางย่อน ระยะทางทางน้ำประมาณ 90 กิโลเมตร จากนั้นเดินทางเท้าไปทางทิศตะวันออกอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงบ้านท่าข้าม เดินขึ้นเขาชันไปทางทิศตะวันออกอีกประมาณ 13 กิโลเมตร บางช่วงเป็นสันเขาชัน มองลงมาจะเห็นทุ่งชาลีซึ่งเป็นทุ่งหญ้าคาที่มีความสูงมากกว่า 2 เมตร และมีอาณาบริเวณกว้างไกล เห็นสัตว์ป่านานาชนิด โขลงช้างป่า เสือ กระทิง แรด โครำ(เลียงผา) เก้ง กวาง กำลังกินอาหาร สันเขาดังกล่าวมีความสูงถึงประมาณ 3,500 ฟุต อากาศหนาวเย็นตลอดปี สามารถสัมผัสปุยนุ่นได้ดีทีเดียว จากนั้นเดินลงไปทางทิศตะวันออกอีก ประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงเหมืองโชน ในปัจจุบันร่องรอยที่เห็นอยู่ชัดเจน คือ สะพานพระอร่าม ในซอยแสงทองและเครื่องมือที่หลงเหลืออยู่บริเวณเหมืองโชน

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมอยากให้ตัวหนังสือในบทความของคุณทศ แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าให้ห่างกันเยอะๆหน่อยครับ

    ผมว่ามันติดกันไป อ่านยากไปหน่อยครับ

    ตอบลบ