ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

พระนิพพานโสตร


พระนิพพานโสตร เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่กวีชาวใต้ได้แต่งขึ้น เรื่องราวที่ปรากฏ ในพระนิพพานโสตร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานศาสนาและประวัติศาสตร์ ว่าด้วยตำนาน พระธาตุของพระพุทธเจ้า ความเป็นมาของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และการสร้างพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช เนื่องจากวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง พระนิพพานโสตร เป็นวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับตำนานพุทธศาสนาและตำนานเกี่ยวกับการสร้างพระบรมธาตุ ที่สำคัญในภาคใต้ การแพร่กระจาย ของวรรณกรรมดังกล่าว จึงมีค่อนข้างสูง และพบได้เกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีประเพณีเก่าแก่และสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนประเพณีหนึ่ง คือ ประเพณีสวดด้าน๒ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าสวดหนังสือ และหนังสือที่ใช้ในการสวดที่นิยมกันแพร่หลายมากที่สุดก็คือ หนังสือวรรณกรรมพื้นบ้าน เรื่อง พระนิพพานโสตร นี่เอง พระนิพพานโสตร ที่พบในภาคใต้แต่ละฉบับมีเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป เช่น พระนิพพานโสตร์ พานโสต พระภานโศท พระณี้ภ่าร่สูตร พระณีการสูท พระนิพพานโสต พระนีภารโสต ภระนีร่ภารศุศ พระนีพานโสด และนิพพานโสตร การเรียกชื่อวรรณกรรม ที่แตกต่างกันนี้เป็นไปตามสำเนียงพื้นถิ่นของแต่ละถิ่นที่แพร่กระจายออกไป ซึ่งจากการศึกษาของนักวิชาการท้องถิ่น ได้มีการค้นพบว่า มีพระนิพพานโสตร ที่ปรากฏในภาคใต้ทั้งสิ้นกว่า ๓๐ ฉบับ จัดเก็บไว้ในที่ต่างๆ เพื่อการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการและบุคคลที่สนใจ คือ ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ ๔ ฉบับ ที่ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ สถาบัน ราชภัฏนครศรีธรรมราช ๘ ฉบับ ที่ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สถาบันราชภัฏ สุราษฎร์ธานี ๑๑ ฉบับ และที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏภูเก็ต อีก ๗ ฉบับ๓ ลักษณะต้นฉบับวรรณกรรมเรื่อง พระนิพพานโสตร ที่ค้นพบทั้งหมดจะเป็นหนังสือบุดขาว ขนาดกว้างประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๕.๕ เซนติเมตร บันทึกด้วยอักษรไทย โบราณ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอักษรที่ใช้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๒๓) แบบหนึ่ง กับอักษรขอมปัจจุบัน (พ.ศ. ๑๘๐๐ เป็นต้นมา) อีกแบบหนึ่ง๔ ใช้คำประพันธ์ประเภท กาพย์ ๓ ชนิด คือ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ โดยใช้ภาษาไทย สำเนียงท้องถิ่นภาคใต้เป็นภาษาในการประพันธ์ ข้อความที่ปรากฏ มักจะเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู และเล่าถึงพุทธประวัติ บางฉบับกล่าวถึงพุทธประวัติตั้งแต่พระพุทธเจ้าประสูติ และดำเนินเรื่องไปจนถึงตอนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ การแบ่งพระ บรมสารีริกธาตุไปยังเมืองต่างๆ การทำสงครามเพื่อแย่งชิงพระทันตธาตุ พระนางเหมชาลาและพระทนธกุมารปลอมพระองค์เสด็จหนีไปยังเมืองลังกา และการสร้างพระบรมธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช โดยแต่ละฉบับอาจจะมีการกล่าวถึงเนื้อหาดังกล่าวเพียงบางตอน และจบลงในบางตอนไม่มีฉบับใดที่กล่าวถึงพุทธประวัติและตำนานการสร้างพระบรมธาต ุที่เมืองนครศรีธรรมราชครบถ้วนทุกตอน ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างมาแสดงให้เห็นบางฉบับ เช่น
พระนิพพานโสตร ฉบับศูนย์วัฒนธรรมสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี ฉบับหมายเลขทะเบียน ๒๒๑ - ๑๔ - ชว - ๙๙ - ๘๔ มีข้อความเริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู กล่าวถึงการประสูติ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดำเนินเรื่องไปจบตอนเสด็จดับขันธปรินิพพาน และการถวายพระเพลิง พระพุทธสรีระเสร็จแล้วมีการแบ่งพระบรมสารีริธาตุไปยังเมืองต่างๆ พระนิพพานโสตร ฉบับศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี ฉบับไม่มีหมายเลขทะเบียน ต้นฉบับมีข้อความชำรุด มีข้อความเริ่มตั้งแต่ พระนางเหมชาลา และ พระทนธกุมารปลอมพระองค์เสด็จหนีไปยังเมืองลังกา แล้วไปจบตอนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ให้ประกาศหาผู้ที่ทราบที่ฝังพระบรมสารีริกธาตุ ตอนท้ายของวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เรื่อง พระนิพพานโสตร เกือบทุกฉบับ จะมีการกล่าวถึงผู้สร้างและวัน เดือน ปีที่สร้างไว้ เช่น "ประสกคงจันทร์ กับสีกาเหนียว ได้สร้างหนังสือ..." "เขียนจบวันอังคาร เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสามค่ำ สิริศุภมัสดุ พระพุทธศักราช พระศาสนาล่วงแล้วได้สองพันสามร้อยเก้าสิบพระวสา เศษเดือนล่วงแล้วได้ห้าเดือน เศษวันล่วงแล้วสิบเจ็ดวันปีมะแม นพศก อยู่ในวสันตฤดู" เป็นต้น ดังที่กล่าวแล้วว่า การบันทึกวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เรื่อง พระนิพพานโสตร ทุกฉบับบันทึกด้วยอักษรไทยโบราณ ส่วนภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้ที่ใช้อ่านวรรณกรรมในการสวด ดังนั้น ในการเสนอบทความเรื่องนี้ ข้อความที่ยกมาจากวรรณกรรม ท้องถิ่นภาคใต้เรื่อง พระนิพพานโสตร ผู้เขียนจะใช้ข้อความที่ปริวรรตอักษรเป็นอักษรไทย มาตรฐาน ปัจจุบันแล้วมานำเสนอเพื่อความสะดวกในการอ่าน แต่ยังคงสำเนียงในการอ่านเป็นสำเนียงท้องถิ่นภาคใต้เอาไว้ และจะอธิบายศัพท์ของคำบางคำไว้ในคอลัมน์ด้านขวาของข้อความที่ยกมา
ความเชื่อทางศาสนาที่ปรากฏในวรรณกรรม ในวรรณกรรมพื้นบ้านท้องถิ่นภาคใต้ เรื่องพระนิพพานโสตร ก็เช่นกัน ผู้แต่งได้ สะท้อนภาพทางสังคมและวัฒนธรรมในด้านต่างๆ ไว้หลายด้าน ในที่นี้ผู้เขียนใคร่ขอเสนอการ สะท้อนภาพทางสังคมในมิติของความเชื่อที่เกี่ยวกับศาสนาของคนไทยภาคใต้ ไว้ในบทความนี้ ดังนี้
๑. ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม
๒. ความเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์
๓. ความเชื่อเรื่อง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
๔. ความเชื่องเรื่องยุคพระศรีอาริย์
วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เรื่อง พระนิพพานโสตร นับเป็นหลักฐานบันทึกจากตำนานบอกเล่า ที่จะให้ข้อมูลบางส่วนในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับนครศรีธรรมราชสมัยโบราณ โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์และศาสนา ตำนานพระธาตุของพระพุทธเจ้า ความเป็นมาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช และการสร้างพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ในด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ว่าด้วยเรื่องดังกล่าว อาจจะได้ข้อมูลเพียงบางส่วน และเป็นข้อมูลจากการคำบอกเล่า และบันทึกต่อๆ กันมา คงไม่สามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชา การทางประวัติศาสตร์ได้เท่าที่ควร ดังที่ อุดม หนูทอง กล่าวว่า "เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และศาสนาจากการบอกเล่าและบันทึกใน พานโสต คงเอาเป็นจริงเป็นจังได้ไม่มากนัก ด้วยผู้แต่งเขียนตามที่เล่าๆ กันมาเป็นสำคัญ ซึ่งมีการตัดเติมเสริมแต่งเป็นธรรมดา และยิ่งกาลเวลาจากช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาถึงสมัยของผู้แต่งห่างกันหลายร้อยปีด้วยแล้ว ย่อมไม่มีโอกาสผิดข้อเท็จจริงไปได้มากทีเดียว" แต่ในด้านการศึกษามิติทางศาสนา นับว่ามีคุณค่าในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เรื่อง พระนิพพานโสตร ได้สะท้อนให้เห็นมุมมองด้านความเชื่อทางศาสนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอิทธิพลความเชื่อทางศาสนาที่รุ่งเรืองในท้องถิ่นภาคใต้ อย่างศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนา การสะท้อนความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องชาติภพ เรื่องนรก - สวรรค์ และความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ ในด้านการปฏิบัติตนให้อยู่ในครรลองแห่งความเชื่อทางศาสนา มุ่งกระทำกรรมดี เพื่อจะให้ตนเองได้รับผลกรรมดี เมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดในภพภูมิที่ดี ทำให้เมืองนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองในภาคใต้ สมัยโบราณ กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ที่เคยรุ่งเรือง ปรากฏหลักฐาน ให้เห็นเด่นชัดและพระพุทธศาสนาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดจนได้รับการขนานนามว่า "นครเมืองพระ" ตั้งแต่อดีตกาลมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น