ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมาของ “บทไหว้สัสดีใหญ่”


บทไหว้สัสดีใหญ่นั้นเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของภาคใต้ในเขตจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งนายศรีนาก เมืองสุข อาศัยในบริเวณตำบลวัดขนุน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ “คาถาตำรายาโบราณ” โดยได้ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์บำรุงนุกูล กรุงเทพฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ไม่ให้สูญหาย
บทไหว้สัสดีใหญ่ นั้น คำว่า “สัสดี” หมายถึง “พระสุรัสวดี” ชายาของพระพรหม ซึ่งทางศาสนาฮินดูยกย่องให้เป็น “เทพีแห่งศิลปวิทยา”
สมัยโบราณก่อนที่นักเรียนจะเรียนหนังสือหรือว่าจะมีการเรียนรู้วิชาอะไรก็ตาม จะต้องมีการไหว้สัสดีใหญ่ก่อนเพื่อให้การศึกษาเล่าเรียนนั้นประสบความสำเร็จ สามารถเรียนรู้ได้ชำนาญ แคล่วคล่อง
จากหนังสือพจนานุกรมภาษาไทยถิ่นใต้ พุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้อธิบายความหมายของคำว่า “สัดดี”ไว้ว่า
“บทไหว้บูชาครูมี ๒ อย่างคือ สัดดีน้อย : ไหว้ครูก่อนทำพิธีอย่างย่อ เช่น ก่อนมอบตัวเป็นศิษย์ , ก่อนหยิบหนังสือขึ้นอ่าน เป็นต้น
สัดดีใหญ่ : ไหว้ครูตอนทำพิธีสำคัญ เช่นไหว้พระภูมิเจ้าที่ , พิธีครอบมือของนักแสดง เป็นต้น.”
เนื้อหาของ “บทไหว้สัสดีใหญ่” จะกล่าวถึงคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตลอดจนพระคุณของบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ประพันธ์ด้วยคำประพันธ์ทำนองกาพย์ยานี ๑๑ ที่ไม่เคร่งครัดเรื่องของจำนวนคำและฉันทลักษณ์ มีการใช้คำภาษาไทยถิ่นใต้แทรกลงไปด้วย เช่น
“ เมื่อตัวข้าอยู่ในครรภ์ สิบเดือนนั้นเต็มอัตรา พระแม่ทนเสดสา เวทนาจนเหลือใจ”
นอกจากนี้ยังมีการแทรกภาษาบาลี-สันสกฤตลักษณะคล้ายคาถาหรือบทสวดมนต์ เช่น
“โอมนะโมนมัสการ โอมภัยญาณสัมพุทโธ พันเจสัมปันโน ทั้งห้าองค์พระชินสีห์ ข้าขอบังคมประนมกรอ่อนชุลี สัสดีหนอขอปัญญา”
บทไหว้สัสดีใหญ่ ซึ่งนายศรีนาก เมืองสุข อาศัยในบริเวณตำบลวัดขนุน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ได้บันทึกไว้นี้มีความโดดเด่นในเรื่องของการกล่าวถึงพระคุณของบิดามารดา มีการใช้อุปมาโวหาร การพรรณนาโวหารให้เกิดจินตภาพ ผู้อ่านสามารถสัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของบทประพันธ์ ความทุกข์ทรมานของผู้เป็นมารดาในระยะตั้งครรภ์จนกระทั่งถึงหลังคลอดยิ่งนัก กระผมจึงได้นำมาให้ท่านได้ลองศึกษาถึงความไพเราะและอัจฉริยภาพของกวีปักษ์ใต้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น