ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

เพลงกล่อมเด็ก : วรรณกรรมมุขปาฐะสอนหญิงของภาคใต้


“..อา เอ้อ..ไก่เถื่อนเหอ... ขันเทือนทั้งบ้าน โลกสาวขี้คร้าน... นอนให้แม่ปลุก ฉวยได้ด้ามขวาน...แยงวานดังพรุกนอนให้แม่ปลุก...โลกสาวขี้คร้าน เหอ..”
เนื้อเพลงด้านบนนี้คือเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งซึ่งผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางภาคใต้คงจะรู้จักกันเป็นอย่างดี หากแต่อาจจะมีเนื้อร้องที่แตกต่างกันบ้างในแต่ละท้องที่ เพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่นอกจากมีความไพเราะ แสดงถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูกแล้วยังสะท้อนค่านิยม ความเชื่อ วิถีชีวิตของผู้คนและอารมณ์ขันในแต่ละท้องที่ได้เป็นอย่างดี เนื้อร้องจากเพลงกล่อมเด็กที่ยกตัวอย่างมาเราก็สามารถอธิบายได้หลายประการ เช่น
การสอนลูกผู้หญิงว่าอย่าหัดเป็นคนตื่นสาย ขนาดไก่ขันจนดังลั่นแล้วยังนอนหลับอยู่ได้ อารมณ์ขันคือวิธีการปลุกด้วยการใช้ด้ามขวานทิ่มก้น หากเป็นคนใต้ร้องจะได้อารมณ์มากในท่อน “ฉวยได้ด้ามขวาน...แยงวานดังพรุก” ใครมีเพื่อนเป็นคนภาคใต้ลองให้เขาร้องดูสิครับรับรองว่าเกิดจินตภาพและการใช้สัทพจน์ได้เป็นอย่างดี
ในที่นี้กระผมขอยกตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กที่มีเนื้อร้องซึ่งได้เกริ่นนำไว้ในชื่อบทความแล้วว่า “วรรณกรรมมุขปาฐะสอนหญิงของภาคใต้” ซึ่งต้องขอขอบคุณเว็บไซต์เมืองลุงดอทคอมเป็นอย่างยิ่งที่ได้อนุรักษ์ รวบรวมเนื้อเพลงกล่อมเด็กไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า
เพลงกล่อมเด็กอีกเพลงคือ “เพลงลูกสาว” มีบทร้องว่า "..อา เอ้อ..ลูกสาวเหอ ลูกสาวชาวบ้านหัวนอน ใช้ให้แกงบอน โก้เช้าโก้เที่ยง
ให้แกงปลาดุก ดอกทองมันจุกลงทั้งเงี่ยง ดอกทองหน้าเกลี้ยง หน้ามันอี้เลี้ยงผัว เห้อ.."
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : บ้านหัวนอน = บ้านทางทิศใต้ ,โก้ = กู่ , ตะโกน”
เพลงนี้เป็นการเปรียบเปรยผู้หญิงที่ไม่มีความเป็นแม่เหย้าแม่เรือน ใช้ให้แกงก็ตะโกนเรียกตั้งแต่เช้ายันเที่ยงก็ไม่ได้เรื่อง ให้แกงปลาดุกก็ใส่ลงไปทั้งเงี่ยง หน้าอย่างนี้จะทำให้ผัวกินได้หรือ นอกจากนี้ยังมีเพลงที่สะท้อนความแตกต่างระหว่างหญิงสาวที่แต่งงานไปกับคนไทยกับคนจีนว่ามีฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนี้
“..อา เอ้อ..ลูกสาว ชาวเรินตีน พอได้ผัวจีน นอนสาดเจ็ดชั้น แรกได้ผัวไทย ผืนไหนผืนนั้น นอนสาดเจ็ดชั้น โลกสาวชาวเรินตีน เห้อ..”
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : เริน = เรือน (บ้าน) , ตีน = ทิศเหนือ , เรินตีน = บ้านอยู่ทางทิศเหนือ , สาด = เสื่อ)
ผู้หญิงที่แต่งงานกับคนจีนจะวางตัวร่ำรวย ทำตัวไม่เหมือนก่อน จนผู้แต่งเสียดสีว่าเวลานอนต้องปูเสื่อเจ็ดชั้นถึงจะนอนได้ แต่หากแต่งงานกับคนไทยจะอยู่อย่างเรียบง่าย แต่โดยนัยแล้วยังแฝงน้ำเสียงดูถูกไว้ด้วยว่า แต่งงานกับคนไทยแล้วก็เท่านั้นไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมาเลย เพลงนี้แล้วแต่ว่าท่านจะมองในแง่มุมใด ยังมีอีกบทเพลงที่มีใจความทำนองนี้คือเพลง “นกคุ้ม” ว่า
“..อา เอ้อ..นกคุ้มเหอ หางหลุ้มตีนเทียน เทียมได้ผัวเหมียน นั่งเขียนแต่เล็บ ผักบุ้งชายเลก็ไม่ต้อง ผักบุ้งชายคลองก็ไม่เก็บ นั่งเขียนแต่เล็บ กินของกำนัลผัว เห้อ..”
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : หางหลุ้ม = หางสั้น , เทียม = ตั้งแต่ , เหมียน = เสมียน , เล= ทะเล )
เป็นบทเพลงที่เปรียบเปรยผู้หญิงที่ไม่ทำการทำงานเพราะว่าได้แต่งงานกับเสมียน (คนภาคใต้เรียกผู้ที่รู้หนังสือว่า “เหมียน”ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฐานะร่ำรวย) เอาแต่นั่งเขียนเล็บ แต่งหน้าทาปาก งานบ้านงานเรือนไม่ยอมทำ จะหาผักหาปลาไว้แกงก็ไม่เคยทำ คอยแต่กินของใต้โต๊ะที่เป็นสินบนหรือของกำนัลผัว ซึ่งเพลงนี้ได้บันทึกสภาพ ฐานะและพฤติกรรมของชนชั้นปกครองในสมัยโบราณไว้อย่างชัดเจน
เรื่องของกิริยามารยาทของผู้หญิงก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกสังคมจะให้ความสำคัญมาก ดังในเพลงที่ว่า
"..อา เอ้อ..ลูกสาวเหอ ลูกชาวเรินตีน เดินไม่แลตีน เหยียบลูกไก่ตาย หนวยตาสองหนวย หวงไว้แลชาย เหยียบลูกไก่ตาย ลูกสาวชาวเรินตีน เห้อ.."
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : หนวยตา = ลูกตา , หวง = ห่วง ) เพลงนี้เป็นการสั่งสอนหญิงสาวที่ไม่มีกิริยามารยาท จะเดินจะเหินก็ไม่มีการสำรวมกิริยามารยาท มีลูกกะตาสองลูกก็มัวแต่มองผู้ชาย จนเหยียบลูกไก่เล็กๆ ในลานบ้านตาย เป็นเด็กสาวที่ไม่ได้เรื่องได้ราว
นอกจากนี้ยังมีเพลงกล่อมเด็กที่เป็นคติเตือนใจเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาวใน “เพลงปลูกรัก” มีเนื้อร้องดังนี้
"อา เอ้อ..ปลูกรักเหอ ปลูกไว้ที่ลุ่ม ฝนพลัดมืดคลุ้ม โอนรักไปไว้ที่ชายควน พ่อแม่เขาไม่สมัคร เด็กเหอมันรักกันแต่สวน ปลูกรักเรรวน ไปหน้าอย่าควรปลูก เห้อ.."
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : ฝนพลัด= ฝนตก , ชายควน = ชายเนิน/ชายเขา , แต่สวน = ตามลำพัง/คนเดียว , ไปหน้า = ต่อไปภายภาคหน้า )
เพลงบทนี้ หมายถึงความรักที่ไม่หนักแน่นของคนหนุ่มสาวที่รักกันเอง โดยที่พ่อแม่ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย เป็นความรักที่ลุ่มๆ ดอนๆ (คืออยู่บนควนบ้างอยู่ในที่ลุ่มบ้าง) เป็นความรักที่เปลี่ยนใจง่าย ไม่สมควรจะปลูกความรักแบบนี้อีกในวันข้างหน้า เนื้อเพลงท่อนต่อมาร้องเตือนลูกสาวเรื่องการมีคู่ครอง ควรให้พ่อแม่รับรู้มีส่วนในการตัดสินใจด้วย ไม่ใช่พบใครเป็นผู้ชายแล้วรักเหมือนไม้เลื้อย อยู่ใกล้ใครก็รักคนนั้น หากเป็นแบบนี้ จะไปได้ดีสักแค่ไหนกัน ที่สำคัญผู้ใหญ่สมัยก่อนได้กล่าวถึงวิธีการเลือกคู่ครองของหญิงสาวที่ถูกต้องไว้ด้วยในเพลง “อ้อยตง” ว่า
"..อา เอ้อ..อ้อยตงเหอ โฉมยงมาเห็นเข้าก็ติดใจ อี้กินสักลำไม่สาไหร เพราะหระอยู่ในพ่อทูนหัว อี้กินสักลำที่ดีดี ไม่ต้องราคีพอยังชั่ว สาวน้อยทูนหัว กินอ้อยไม่แลหระ เห้อ.."
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : อ้อยตง = พันธุ์อ้อยลำใหญ่เกือบเท่าไม้ไผ่ตง , อี้กิน = จะกิน ,ไม่สาไหร = ไม่อร่อย, รสไม่เอาไหน , หระ = หรา หรือหนอนไช )
เป็นบทเพลงที่กล่าวสั่งสอนให้เด็กสาวรู้จักเลือกคู่ครองที่ดีๆ ไม่เห็นแต่ความหล่อของชาย (เปรียบอ้อยลำใหญ่น่ากิน แต่ข้างในมีหนอนเจาะ) มีความหล่ออย่างเดียว แต่นิสัยไม่ดีก็ใช้ไม่ได้ ยังมีอีกหนึ่งบทเพลงที่ผมเห็นว่าเหมาะกับผู้หญิงในสังคมยุคภาวะโลกร้อนนี้ยิ่งนัก เพลงนั้นชื่อว่า “เพลงฝนตก” ร้องว่า
“...อ้า เอ้อ เหอ ฝนตกลงมาแพร่ ๆ ลูกไม่ฟังแม่ จะดีแค่ไหน พบแขกได้แขก พบไทยได้ไทย จะดีแค่ไหน ลูกไม่ฟังคำแม่ เห้อ..”
เพลงกล่อมเด็กเพลงนี้มุ่งเน้นตำหนิผู้หญิงที่ไม่สำรวมกิริยามารยาท ปล่อยตัวปล่อยใจให้กับผู้ชายทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นใครต่างได้เชยชมนางทั้งสิ้น หากเยาวชนยุคนี้ได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับบทเพลงเหล่านี้สังคมไทยคงไม่ฟอนเฟะเช่นในปัจจุบัน
สำหรับหญิงสาวที่ออกเรือนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดความระหองระแหงระหว่างแม่สามีกับลูกสะใภ้นั้นก็ยังเป็นเช่นเดิม โดยคนโบราณก็ผูกเป็นเนื้อร้องในเพลง “ลูกสะใภ้” ดังนี้
“..อา เอ้อ..ไก่แจ้เหอ.......ขึ้นไปชายรั้ว ร้องเรียกแม่ผัว......ทำไหรให้แม่ผัวกิน
แกงเป็ดสักขา.......แกงปลาสักชิ้น ลืมใส่ขี้หมิ้น.........หอมรินแม่ทูนหัว เห้อ..”
“..อา เอ้อ..ไก่แจ้เหอ...ขึ้นไปริมรั้ว...โลกใภ้...กวาดตาหาทั่ว ไก่ถูกจับคั่ว...ให้แม่ผัวกิน เห้อ..”
“..อา เอ้อ..แม่ผัวกินไก่...กระดูกไก่...แหลมทิ่มปลายลิ้น โลกใภ้หัวร่องอดิ้น
อร่อยถูกปลายลิ้น...ฤาแม่เอย..เห้อ..”
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : เหอ=เอย , ขี้หมิ้น= ขมิ้น ,โลกใภ้= ลูกสะใภ้ )
นับว่าเพลงนี้แสดงอารมณ์ขันของคนโบราณได้อย่างน่ารักมาก เพลงในท่อนแรกเป็นการที่แม่สามีเสียดสีลูกสะใภ้ว่าวันนี้ลูกสะใภ้ทำแกงเป็ดแกงปลาให้แม่สามีกิน แต่ดันลืมใส่ขมิ้นลงไป คงอร่อยน่าดูล่ะ ( แกงส่วนใหญ่ทางภาคใต้นิยมใส่ขมิ้น )
ส่วนเนื้อเพลงในท่อนที่ ๒ และ ๓ นั้นเป็นการแก้เผ็ดของลูกสะใภ้เมื่อถูกแม่สามีตำหนิ เพราะเมื่อแม่สามีกินแกงไก่เข้าไป ปรากฏว่ากระดูกไก่ทิ่มคอ ลูกสะใภ้หัวเราะแล้วแกล้งถามแม่สามีว่าแกงไก่อร่อยถูกปากไหม เมื่ออ่านหรือได้ยินเพลงกล่อมเด็กบทนี้แล้วทำให้เราจินตนาการได้อย่างแจ่มชัดถึงคู่แม่สามี-ลูกสะใภ้คู่นี้ได้ว่า “ขิงก็ราข่าก็แรง” จริงๆ
ยังไม่หมดนะครับสำหรับเพลงกล่อมเด็กที่สอนหญิง ยังมีอีกหนึ่งบทเพลงชื่อว่าเพลง “รอกไต่ราว” มีเนื้อร้องว่า
“..อ่า เอ้อ..ไปบ้านออกเหอ ไปแลลูกรอกมันไต่ราว แม่ม่ายทำสาว อี้งามอี้แง่สักแค่ไหน ตัวของเรานี้ รู้ดีอยู่ในใจ อี้งามอี้แง่สักแค่ไหน แม่ม่ายมันทำสาว เห้อ..”
( ศัพท์ไทยถิ่นใต้ : ลูกรอก = ลูกรอกที่จุดแสดงตามงานวัด , อี้งามอี้แง่ = จะงามจะแง่ , หมัน = มัน , บ้านออก = บ้านอยู่ทางทิศตะวันออก)
ในสมัยโบราณ มีการยกย่องหญิงม่ายที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อสามี แม้สามีจะตายจากไปแล้ว ก็ยังซื่อสัตย์มั่นคงในรัก ในประเทศอินเดียถึงกับมีการฆ่าตัวตายตามสามีเรียกว่าพิธี “สตี” ชาติตะวันตกที่เข้ามาอินเดียในสมัยนั้นต่างตกใจเมื่อได้พบเห็นพิธีนี้ แต่ในปัจจุบันได้มีกฎหมายห้ามการกระทำดังกล่าวแล้ว ประเทศจีนในสมัยโบราณก็จะไม่แต่งงานใหม่เลย ในสมัยราชวงศ์ซ้องมีกฎหมายว่า หญิงม่ายใดที่ครองตัวเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมเสื่อมเสียหรือแต่งงานใหม่ครบ ๒๕ ปี ฮ่องเต้จะพระราชทานป้ายประกาศเกียรติคุณให้
บทเพลงนี้เป็นการล้อเลียน ถากถางหญิงม่าย ที่แต่งตัวล่อชาย เป็นการสั่งสอนเรื่องทางเพศ เรื่องการวางตัวของผู้หญิงว่าแม้จะเป็นม่ายก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมอย่าให้เป็นที่ครหาได้
นี่เป็นตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กบางเพลงเท่านั้นที่ได้ยกมากล่าวอ้าง ยังมีอีกหลายบทเพลงที่มีคุณค่าหากแต่ปัจจุบันด้วยกระแสวัฒนธรรมต่างชาติได้หลั่งไหลและพัดพาอดีตแห่งความงดงามทางวัฒนธรรมท้องถิ่นให้หายสาบสูญไปอย่างน่าเสียดาย เนื้อหาในเพลงดีๆที่ถ่ายทอดผ่านความรักในเพลงกล่อมเด็กจึงไม่ได้ซึมซาบลงไปในใจของเยาวชนรุ่นใหม่ หาไม่แล้วอนาคตของชาติเหล่านั้นคงไม่สร้างปัญหาที่ถือได้ว่าเข้าขั้นวิกฤตเช่น การมั่วสุมในเรื่องเพศ ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นขนาดเด็กปอสองก็พูดคุยกันเรื่องเซ็กส์ ดาราสาวออกมาแฉพฤติกรรมถึงผู้ชายที่เธอเคยพลีกายให้เชยชมมาแล้วอย่างภาคภูมิใจ ผมก็หวังได้เพียงว่าสักวันเพลงกล่อมเด็กที่เคยได้ยินในอดีตจะกลับมาขับขานให้ก้องกังวานอีกครั้ง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น