ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

เรื่องสั้นส่งเสริมกำลังใจ : เป็นอะไรเป็นได้แต่อย่าเป็น “ช่าง” (จริงหรือ)




“เป็นอะไรเป็นได้แต่อย่าเป็นช่าง ดูรึช่างตัดเสื้อ ตัดเสื้อให้คนอื่นสวยแทบตายแต่ตัวเองก็ยังแต่งตัวมอซอ ช่างก่อสร้างสร้างบ้านให้คนอื่นอยู่ใหญ่โตสวยงามแต่ตัวเองกลับไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่งอาศัยนอนกงสีไปวันๆ ไม่นับช่างอย่างอื่นอีกมากมายที่รังสรรค์งานงดงามไว้มากมายแต่ตัวเองกลับไม่มีอะไรเป็นหลักฐานมั่นคงเลย” น้ำเสียงของหญิงวัยกลางคนกล่าวกับเจ้าหนูตัวอ้วนกลมที่กำลังระบายสีรูปภาพอย่างขะมักเขม้น
อ้วน คือเด็กชายคนหนึ่งที่เกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลางค่อนไปทางลำบากเสียด้วยซ้ำ อ้วนชอบที่จะขีดๆเขียนๆมาตั้งแต่จำความได้ ด้วยความที่ครอบครัวของเขาไม่สามารถที่จะซื้อของฟุ่มเฟือยตามใจลูกได้ คราวหนึ่งอ้วนอยากจะได้สีน้ำและอุปกรณ์ระบายสีเขาก็ต้องไปรับจ้างล้างจานเพื่อเอาเงินนั้นไปซื้อในสิ่งที่เขาต้องการ
ปีนี้อ้วนกำลังจะจบชั้น ป.๗ ครูใหญ่แนะนำให้เขาเรียนต่อเพื่อที่จะเป็นพื้นฐานในการเข้าโรงเรียนช่างศิลป์ในอนาคต ทว่ามันคงเป็นไปไม่ได้สำหรับเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อเป็นแค่ช่างตัดผมส่วนแม่ก็เป็นแค่คนรับจ้างซักรีดเสื้อผ้า รายได้ไม่แน่นอน
“เรียนจบ ป.๗แค่นี้ก็บุญแล้ว เดี๋ยวให้พ่อมึงฝากเข้าทำงานที่บริษัทของเสมียนที่เป็นขาประจำพ่อมึงแล้วกัน” นี่คือคำพูดของแม่ที่บอกเขาในวันที่เขาไปรับใบจบการศึกษาที่โรงเรียน ในขณะที่เพื่อนๆอีกหลายคนได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ
อ้วนเองรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจทุกครั้งที่เขาเดินไปทำงานที่บริษัทในตำแหน่งงานเล็กๆในบริษัทเหมืองแร่ เขาจะเห็นเพื่อนๆที่เคยเรียนสมัยประถมนั่งรถสองแถวไปโรงเรียนทุกเช้าแล้วเขาล่ะ “แต่ทำอย่างไรได้ก็เรามันอยากเกิดมาจนเองนี่” อ้วนคิดในใจ
ชีวิตในบริษัทเหมืองแร่ไม่มีอะไรมากมาย ซ้ำซากจำเจทุกวันจนวันหนึ่งอ้วนตัดสินใจเข้าไปบอกกับแม่ว่า ขอลาออกจากงานเพื่อไปเรียนเขียนป้ายที่โรงภาพยนตร์ในอำเภอ
“แล้วแต่มึงแล้วกัน ข้าเองก็ส่งเสียมึงได้แค่นี้แหละ ชีวิตมึงก็จัดการเองแล้วกัน” เธอพูดแล้วหันกลับไปง่วนซักผ้าในกะละมังกองใหญ่ที่ลูกค้าเอามาให้เมื่อเช้า
ชีวิตของอ้วนเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งจากเด็กวัย ๑๒-๑๓ ปีที่ควรจะใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนกลับต้องมาใช้ชีวิตในโรงภาพยนตร์ที่เขาเรียกว่า “มหาวิทยาลัยชีวิต” ก่อนที่จะได้ศึกษาที่นี่ก็ต้องมีการสอบเข้ากันก่อนหากแต่วิธีสอบของมหาวิทยาลัยนี้คือ “การรับใช้ครู” ครูหรือก็ไม่ใช่ใครที่ไหนก็นายช่างใหญ่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเขียนป้ายโฆษณาภาพยนตร์ ป้ายแห่รถโฆษณาต่างๆนั่นเอง จะเข้าเรียนที่นี่มันก็ต้องวิ่งซื้อโอเลี้ยง บุหรี่กันก่อน
“ไอ้อ้วน ซื้อโอเลี้ยงให้ถุงสิ” เสียงช่างใหญ่ดังลั่นมาจากหลังป้ายภาพยนตร์แผ่นหนึ่ง เป็นไปโดยอัตโนมัติอ้วนรีบวิ่งข้ามฟากไปร้านแป๊ะเก่วทันที ไม่ช้าก็กลับมาพร้อมกับสิ่งที่ครูต้องการ
“เป็นไงบ้างวะ ไอ้อ้วนไปกินอยู่กับช่างเริญตั้งเกือบเดือนแล้ว ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาบ้างหรือยังล่ะ” แม่ถามในขณะที่มือกำลังทุบหัวปลาดุกตัวใหญ่เพื่อผัดเผ็ดเป็นอาหารเย็นวันนั้น
“ไม่เลยแม่ เหมือนทุกวัน ซื้อโอเลี้ยงกับบุหรี่อย่างดีก็ล้างพู่กันให้สะอาดไม่แตกปลายเท่านั้นเอง” อ้วนตอบอย่างเซ็งๆ
“นั่นแหละคือบทเรียนแรกแล้ว ในเมื่อคิดจะเอาดีทางนี้จริงๆแล้วก็ทำให้มันตลอดรอดฝั่งนะ” น้ำเสียงด้วยความห่วงใยที่นานๆครั้งเขาจะได้ยินเป็นกำลังใจให้เขาฮึดสู้ขึ้นมาได้อีกครั้ง
ปรากฏว่าเป็นไปตามที่แม่คาดการณ์ไว้จริง บทเรียนแรกหลังจากที่เขาสอบเข้ามาได้แล้วนั้นก็คือ การล้างพู่กันให้สะอาดที่เพิ่มขึ้นมาจากภารกิจเดิม
“การล้างพู่กันน่ะเป็นสิ่งแรกที่ช่างทุกคนต้องเรียนรู้นะ ไม่ใช่ว่าใครจะล้างพู่กันเป็นกันทุกคน ถ้าล้างพู่กันไม่สะอาดเรียบร้อยก็อย่าหวังว่าจะวาดรูปได้สวยเลย” ช่างเริญสาธิตการล้างพู่กันที่ถูกวิธีหลังจากที่อ้วนล้างพู่กันให้แกแล้วปรากฏว่ายังมีสีเก่าซึมออกมาผสมกับสีใหม่ทำให้ภาพบนแผ่นไม้อัดโฆษณามีรอยเปื้อน
“ค่อยๆล้างไปให้ถึงปลายขนแปรงเลย เพราะสีมันจะติดอยู่ในนั้นเยอะ ถ้าปล่อยไว้นานๆมันจะเกาะแข็งทำให้พู่กันเสียไปเลย แล้วปลายขนพู่กันอย่าให้มันฉีกแตกออกไม่งั้นแล้วมันก็จะแตกปลายใช้ไม่ได้อีกเหมือนกัน” มือของช่างสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่างในขณะที่ปากคาบบุหรี่อย่างโก้ บทเรียนนี้ไม่รู้ว่าอ้วนจะใช้เวลานานเพียงใดจึงจะสอบผ่าน
วันเวลาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผ่านไปอย่างเชื่องช้า อ้วนเฝ้าแต่รอว่าสักวันหนึ่งเขาจะมีโอกาสแสดงฝีมือกับป้ายโฆษณาภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง ทุกครั้งที่เขาเดินผ่านโรงภาพยนตร์หรือรถแห่โฆษณาภาพยนตร์ ทุกตัวละครที่โลดแล่นบนแผ่นป้ายเหล่านั้นเหมือนจะชักชวนให้เขารีบประกาศศักดาในเร็ววัน แต่ผ่านไปสองเดือนเขาก็ยังคงทำได้แค่ซื้อบุหรี่ โอเลี้ยงและล้างพู่กันเท่านั้น
“เออ...วันนี้มึงช่วยทาสีรองพื้นป้ายหน่อยสิ โน่นลูกกลิ้งอยู่ตรงโน้น ทาบางๆก่อนนะแล้วค่อยๆซ้ำทีละชั้น เดี๋ยวกูมาดูเองว่าใช้ได้หรือเปล่า” บทเรียนบทนี้ดูจะง่ายสำหรับเขาเหลือเกิน แต่เมื่อลงมือทำมันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ผสมสีอย่างไรจึงจะไม่เหลวหรือข้นจนเกินไป แล้วซ้ำสีกี่รอบจึงจะใช้ได้ แผ่นไม้อัดสิบกว่าแผ่นที่ตั้งกองรอเขาทาสีรองพื้นไม่รู้ว่าวันนี้จะเสร็จหรือเปล่า
“ไงวะ เสร็จหรือยัง อ้าว.....ทำไมมันหนาเตอะพรรค์นี้ล่ะ แล้ววันนี้กูจะได้เขียนรูปไหมล่ะ” ช่างเริญกล่าวอย่างหัวเสียแล้วก็จัดการแสดงเคล็ดวิชาออกมาอย่างเต็มที่ ในปากยังคงคาบบุหรี่อย่างโก้เหมือนเดิม
“มึงดูนี่....ทาสีป้ายครั้งแรกใช้สีไม่ต้องข้นมากแต่ก็อย่าให้เหลวเป็นน้ำ พอให้สีซึมบนไม้อัดบางๆพอ แล้วทาครั้งต่อๆไปก็ใช้สีที่ข้นพอประมาณเอาให้หนาพอที่จะไม่เห็นสีเนื้อไม้กระดานอัดนะ เอา...ลองทำดู แล้วก็แต่ละชั้นไม่ต้องรอให้สีแห้งสนิทหรอก กะพอสีหมาดๆก็ทาซ้ำได้เลย” นายช่างใหญ่แห่งโรงภาพยนตร์โยนลูกกลิ้งทาสีในมือให้กับลูกศิษย์
วันนี้อ้วนต้องทาสีรองพื้นป้ายอยู่จนหัวค่ำ เสียงเพลงหน้าโรงภาพยนตร์เชิญชวนให้ผู้คนมาเข้าแถวซื้อตั๋วดูภาพยนตร์ชื่อดังที่เพิ่งมาใหม่จากกรุงเทพฯ เสียงจอแจไม่เป็นภาษา กลิ่นขนมจากแม่ค้าหน้าโรงภาพยนตร์ เสียงผัดข้าวจากร้านอาหารตามสั่งที่มาพร้อมกับกลิ่นหอมฉุยลอยมาปะทะจมูกเข้าอย่างจัง ท้องเริ่มจะบอกแล้วว่า “หิวแล้วนะ” หากแต่งานยังไม่เสร็จแล้วจะให้ทำอย่างไรได้ล่ะ
“อ้าว....ร้องไห้ทำไมวะมึง คิดถึงบ้านหรือไงวะ” ช่างเริญเข้ามาดูผลงานที่ฝากศิษย์ก้นกุฏิแต่กลับเห็นภาพของเด็กหนุ่มนั่งร้องไห้อยู่ใกล้ๆถังสี ใบหน้าเปรอะไปด้วยน้ำมูกน้ำตา
“ผมหิวข้าว” เด็กหนุ่มพูดเสียงอ่อยๆปนสะอื้น ขณะเดียวกันนายช่างใหญ่ก็โยนห่อห่อหนึ่งให้
“เอา...แกะกินเสียสิ นึกว่ากูจะใจไม้ไส้ระกำกับเด็กๆหรือไง ข้าวผัดกำลังร้อนๆรีบกินเสีย เดี๋ยวจะไม่อร่อย”
หากอ้วนไม่ง่วนอยู่กับข้าวผัดร้อนๆตรงหน้าเขาคงจะได้เห็นรอยยิ้มและสายตาเอ็นดูของช่างเริญที่กำลังมองเขาอยู่ อาหารมื้อนี้แม้จะง่ายๆราคาถูกแต่กลับเปี่ยมไปด้วยความเมตตาของครูที่มีต่อศิษย์ นอกจากบทเรียนในวิชาวันนี้แล้วอ้วนยังได้ค้นพบสัจธรรมอีกข้อหนึ่งว่า “ความรักบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกเสมอไป” คืนนั้นอ้วนแวะซื้อก๋วยเตี๋ยวผัดห่อใหญ่ฝากแม่ ผู้ที่อ้วนเคยตั้งคำถามอยู่ในใจมาตลอดว่า “แม่รักเขาหรือเปล่า”
“วันนี้มันมาแปลกเว้ย ซื้อก๋วยเตี๋ยวมาฝากแม่ ไปรวยอะไรมาวะ พ่อมึงมาดูไอ้อ้วนมันหน่อยสิ” กลิ่นหอมจากก๋วยเตี๋ยวผัดกับอายร้อนดูน่ากินยิ่งนัก
“ลูกมันอุตส่าห์ซื้อของโปรดมาฝาก ไม่ชอบหรือไง แปลกคนจริง” พ่อนั่งลับกรรไกรตัดผมอย่างสบายอารมณ์ในขณะที่อ้วนเองก็กำลังหัดสเกตซ์ภาพบรูซ ลี ดาราชื่อดังที่เขาชื่นชอบด้วยดินสอสองบีด้ามสั้นกุด
วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เช้าวันนี้อ้วนเดินไปเรียนที่มหาลัยชีวิตของเขาเหมือนทุกวัน เสียงรถโดยสารรับส่งนักเรียนผ่านไปเป็นระยะๆ บนรถนักเรียนแต่ละคนคร่ำเคร่งกับหนังสือที่อยู่ตรงหน้า ทำให้ทราบว่าฤดูของการสอบมาเยือนอีกครั้งหนึ่งแล้ว
“ เจ็ดเดือนแล้วสินะที่เราไปทำงานที่โรงหนัง เมื่อไหร่จะได้แสดงฝีมือสักทีนะนี่” อ้วนเดินผ่านวัดประจำอำเภอ นึกในใจว่าวันนี้ออกจากบ้านเร็วแวะเข้าไปไหว้พระสักหน่อย
องค์พระพุทธรูปที่แย้มพระโอษฐ์ด้วยความเมตตาทำให้ใจของอ้วนรู้สึกสงบ เสียงลมพัดกระดิ่งชายคา โบสถ์ดังกรุ๋งกริ๋งน่าฟัง เขามองพระพักตร์พระพุทธรูปแล้วสายตาพลันเหลือบไปเห็นประกายทองของตู้พระธรรมที่กระทบกับแสงแดดที่ลอดเข้า ฝีมือของช่างยุคก่อนช่างละเอียดประณีตเหมือนกับจะเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา ลายเครือเถาคล้ายจะเลื้อยกระหวัดออกมานอกกรอบ “วันนี้คุ้มจริงๆที่แวะเข้ามาที่โบสถ์นี้ ” อ้วนคิดในใจในขณะที่ย่างออกไปนอกโบสถ์เพื่อเข้าเรียนต่อไป
“อ่ะ...วันนี้หัดตีตารางสเกล ทำได้หรือเปล่า การที่จะวาดรูปได้นั้นไม่ใช่ว่านึกจะลากจะเขียนตรงไหนได้นะเว้ย มันต้องมีระเบียบแบบแผน ป้ายหนังวันนี้กูเว้นตัวประกอบไว้ตัวนึงลองดูก่อนแล้วกันว่ามึงจะทำได้ดีขนาดไหน”
มือน้อยๆค่อยๆลากดินสอที่ทาบไม้บรรทัดไว้อย่างเยือกเย็น หากแต่ในใจนั้นมันพองโตที่วันนี้จะได้มีโอกาสแสดงฝีมือแล้ว ตัวละครตัวหนึ่งขนาดประมาณ ๑๒ คูณ ๒๔ นิ้วที่หลบอยู่มุมหนึ่งของป้ายโฆษณาภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่จะเข้าฉายในเร็วๆนี้คือผลงานชิ้นแรกที่อ้วนมีโอกาสได้ออกแสดงต่อหน้าสาธารณชน จะมีใครสักกี่คนเล่าที่จะมองมาตรงนั้นแต่มันคือก้าวที่ยิ่งใหญ่ของเด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้หรอกว่า เขาจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านศิลปะคนหนึ่งในอนาคต
“แม่มาดูเร็ว นั่นตัวทหารตัวนั้นอ้วนวาดเองกับมือเลยนะ” อ้วนจูงมือผู้เป็นมารดาที่เผอิญผ่านมาทำธุระแถวโรงภาพยนตร์ให้มาดูผลงานชิ้นแรกในชีวิต
“เออๆๆๆ....ก็สวยดี ข้าดูไม่รู้หรอกว่า มันจะสวยงามอะไรอย่างพวกช่างเขามองหรือเปล่า แต่ข้าก็ดีใจที่มึงได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้วก็ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนก็พอแล้ว” แม่เดินออกไปทิ้งให้เด็กหนุ่มยิ้มอย่างภาคภูมิใจกับภาพเล็กๆภาพหนึ่งที่ยืนจังก้าสมจริงอยู่ในรถแห่ป้ายโฆษณา
จากภาพตัวละครตัวเล็กๆก็ขยับมาเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นและบททดสอบสุดท้ายคือการได้มีโอกาสเป็นเจ้าของผลงานป้ายโฆษณาภาพยนตร์ครั้งแรกในชีวิต
อ้วนจำเหตุการณ์วันนั้นได้ดี เหตุเพราะช่างเริญมีธุระที่ต่างจังหวัดเป็นสัปดาห์แต่มีป้ายโฆษณาที่ต้องเตรียมให้พร้อมล่วงหน้าก่อนที่ภาพยนตร์โปรแกรมหน้าจะเข้าฉาย ช่างเริญหยิบโปสเตอร์หนังฝีมือการรังสรรค์ของเปี๊ยก โปสเตอร์ ปรมาจารย์ด้านเขียนภาพประกอบใบปิดโฆษณาภาพยนตร์ของเมืองไทยสมัยนั้นเข้ามาให้ลูกศิษย์
“ไอ้อ้วน กูต้องกลับบ้านต่างจังหวัดสักสองอาทิตย์แต่ว่าหนังโปรแกรมหน้าเสี่ยแกบังคับมาเลยว่าต้องเสร็จในอาทิตย์นี้ งานนี้กูปล่อยให้มึงแสดงฝีมือให้เต็มที่เลยนะ อย่าให้กูผิดหวังล่ะ” ปากคาบบุหรี่เอกลักษณ์ประจำส่งยิ้มมาให้อ้วนพลางตบที่บ่าเบาๆ
แผ่นไม้อัดถูกตอกขึ้นโครงไว้เรียบร้อย จากนั้นก็ทาสีรองพื้นไว้ ระหว่างที่รอสีแห้งก็มาตีสเกลเพื่อเตรียมร่างภาพลงบนป้ายที่เตรียมไว้เสร็จแล้ว ดินสอที่ร่างภาพเหมือนจะโลดแล่น ปลายพู่กันที่แต่งแต้มสีลงไปเพิ่มวิญญาณให้กับภาพ หนึ่งป้าย สองป้าย.....และแล้วก็สำเร็จถึงป้ายสุดท้าย อ้วนวางแต่ละป้ายไว้อย่างเป็นระเบียบ แล้ววางมาดของศิลปินใหญ่ที่กำลังชื่นชมกับงานจิตรกรรมชิ้นเอกที่เขาเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาที่ตั้งอยู่ตรงหน้า
“นึกว่าจะไม่กลับบ้านเสียแล้ว กูว่าวันนี้ถ้ามึงไม่กลับบ้าน จะไปตามที่โรงหนังแล้ว หายไปไหนมาตั้งสี่ห้าวันวะ” เสียงผัดผักบุ้งดังฉ่าใหญ่กลบเสียงคำถามของแม่ที่กำลังสาละวนอยู่หน้าเตาอั้งโล่
“พรุ่งนี้แม่ไปดูที่หน้าโรงหนังแล้วกัน ผมมีอะไรจะให้ดู” อ้วนแอบยิ้มในใจ
วันรุ่งขึ้นอ้วนรีบไปโรงภาพยนตร์แต่เช้า คนงานสองสามคนช่วยกันเอาแผ่นป้ายโฆษณาขึ้นติดตั้งบนหน้าชั้นสองของตัวอาคาร พระเอกมาดเข้มยืนจังก้า มุมปากเหมือนจะส่งยิ้มให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมา นางเอกก็ส่งสายตาหยาดเยิ้มชวนฝันจนทำให้บรรดาหนุ่มๆที่เงยหน้าขึ้นไปมองตะลึงตาค้างกันเป็นแถว ภาพประกอบอื่นๆก็ถูกวางอย่างได้สัดส่วน ทว่าสายตาของเจ้าของผลงานนั้นสอดส่ายหาผู้เป็นแม่ที่บอกว่าจะมาดูในวันนี้แต่ก็ยังไม่เห็นแม้เงา
“มองหาอะไรวะ ไอ้อ้วน คิดว่ากูจะเป็นคนไม่รักษาคำพูดหรือไง อือ....สวยดีนะ กูยืนดูตั้งนานแล้ว เห็นนายช่างใหญ่เขายืนคุมอยู่เลยไม่กล้าเข้ามากวน” แม่พูดด้วยใบหน้าอมยิ้มไว้ปล่อยให้ว่าที่นายช่างใหญ่ยืนกอดอกอยู่คนเดียวท่ามกลางแสงแดดของเวลาเที่ยงวันที่ดูเหมือนจะไม่สะทกสะท้านอะไรสำหรับเขาเลยในขณะนั้น
ช่างเริญกลับมาจากธุระที่ต่างจังหวัดแล้ว เขาเงยหน้ามองภาพที่มอบหมายไว้ให้กับศิษย์ก้นกุฏิ อ้วนเข้ามาหยิบกระเป๋าเดินทางของนายช่างใหญ่ไปเก็บ แต่เขากลับจับมือของอ้วนไว้แน่น
“ไม่เสียแรงที่กูไว้เนื้อเชื่อใจ ทำได้ดีมาก ไม่เสียชื่อกูจริงๆ”
ป้ายโฆษณาภาพยนตร์ชิ้นนั้นถูกติดไว้อยู่เกือบครึ่งเดือนเพื่อประกาศศักดาของฝีมือศิษย์นายช่างใหญ่ของจังหวัด ภาพที่อ้วนได้แสดงฝีมือก็จำต้องถูกปลดลงมาเพราะโปรแกรมภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านไปแล้ว
“เอา...อย่าช้ารีบทาสีทับเร็วเตรียมไว้สำหรับป้ายหนังโปรแกรมหน้าอีก” ประกาศิตจากช่างเริญเหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจอ้วน ผลงานชิ้นแรกที่เขาภาคภูมิใจกลับสูญหายไปภายใต้สีที่ถูกกลิ้งทับไปมาด้วยบุคคลคนเดียวกันกับที่สร้างมันขึ้นมา วันนี้อากาศภายนอกแม้จะแจ่มใสแต่หยาดฝนในใจของอ้วนกำลังพรั่งพรูลงมาถั่งล้นดวงตาคู่นั้นที่มองภาพบนแผ่นป้ายอย่างอาลัยอาวรณ์ สีขาวถูกทาทับใบหน้านางเอกที่ส่งยิ้มหวานมาให้เขาผู้โศกเศร้าเกินที่ใครจะเข้าใจได้
{{{{{
สายธารแห่งกาลเวลาไหลผ่านไปปีแล้วปีเล่า มหาวิทยาลัยชีวิตของอ้วนถูกปิดลงไปกว่าสิบปีแล้วเมื่อความบันเทิงได้เข้าไปให้ความสำราญแก่ผู้คนได้ถึงในทุกครัวเรือน ประตูไม้ด้านข้างที่เคยเป็นห้องเรียนในวัยหนุ่มของเขาเปิดแง้มไว้อย่างไร้คนเหลียวแล ภาพในอดีตค่อยๆหวนกลับมาอีกครั้ง กองป้ายโฆษณาภาพยนตร์ที่ปกคลุมด้วยฝุ่นและหยากไย่ตั้งกองไว้ที่มุมเดิม ที่เปลี่ยนไปคือการผุพังตามกาลเวลา
“โครม......” เสียงแผ่นไม้อัดกองโตถูกเหวี่ยงลงไปเต็มแรง อ้วนปาดเหงื่อทีหนึ่งก่อนที่จะรื้อค้นบางสิ่งบางอย่าง สายธารแห่งกาลเวลาได้พัดพาเด็กหนุ่มวัย ๑๓ ที่ชอบสวมเสื้อยืดห่านคู่กับกางเกงขาสั้นสีดำ ให้กลายเป็นหนุ่มใหญ่วัย ๔๐ ที่แต่งตัวภูมิฐานมากขึ้น
“หาตั้งนานอยู่นี่เอง” ท่าทางวางมาดของศิลปินใหญ่ที่กำลังชื่นชมกับงานจิตรกรรมชิ้นเอกที่เขาเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นหวนกลับมาอีกครั้ง ภาพพระเอกมาดเข้มยืนจังก้า มุมปากเหมือนจะส่งยิ้ม นางเอกก็ส่งสายตาหยาดเยิ้มชวนฝันจนทำให้บรรดาหนุ่มๆมองตะลึงตาค้างกันเป็นแถวภาพประกอบอื่นๆก็ถูกวางอย่างได้สัดส่วนของเปี๊ยก โปสเตอร์ที่มีร่องรอยแมลงแทะบริเวณขอบกระดาษเล็กน้อย
สิ่งที่เขากำลังค้นหาคือกระดาษต้นฉบับป้ายโฆษณาภาพยนตร์ภาพแรกที่เขาวาดถูกเก็บในกล่องสังกะสีกล่องหนึ่งซึ่งถูกทับไว้ในกองไม้อัดเก่าๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาพยายามสืบเสาะหาโปสเตอร์ภาพยนตร์แผ่นนี้จากแหล่งต่างๆมาโดยตลอด ด้วยปณิธานในวัยหนุ่มว่าจะต้องวาดภาพนี้ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่จนแล้วจนเล่าอ้วนก็ยังหาไม่เจอ ทว่าวันนี้มันกลับมาอยู่ในมือของเขาอีกครั้งหนึ่งแล้ว
หลังจบจากมหาวิทยาลัยชีวิตแห่งแรกนี้ ชีวิตของอ้วนก็เปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งเมื่อช่างเริญพาเขาไปรู้จักกับช่างศิลป์ฝีมือดีของยุคนั้นซึ่งเป็นครูของนายช่างอีกทีหนึ่ง อ้วนฝึกฝีมือและสั่งสมประสบการณ์จนเชี่ยวชาญ อาศัยฝีมือทำมาหาเลี้ยงชีพจนกลายเป็นช่างศิลป์ฝีมือดีคนหนึ่ง ส่งภาพเข้าร่วมอวดผลงานอย่างต่อเนื่อง ภาพเขียนฝีมือของช่างอ้วนหลายต่อหลายภาพถูกประดับในคฤหาสน์ของคหบดีและผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน
พู่กันในกระบอกหลายสิบอัน แม่สีสามหลอดและสีขาวหลอดใหญ่หนึ่งหลอดกับเฟรมผ้าใบหลากหลายขนาด เมื่อผ่านการแต่งแต้มจิตวิญญาณในรูปภาพจากมูลค่าเพียงไม่กี่ร้อยบาทกลับทวีค่าเป็นหลักหมื่นหลักแสน จนสามารถแปรสภาพบ้านไม้ผุๆให้กลายเป็นบ้านตึกขนาดใหญ่ และมีลูกศิษย์ลูกหาวัยหนุ่มสาวนับสิบล้อมหน้าล้อมหลังได้อย่างไม่น่าเชื่อ“เป็นอะไรเป็นได้แต่อย่าเป็นช่าง ดูรึช่างตัดเสื้อ ตัดเสื้อให้คนอื่นสวยแทบตายแต่ตัวเองก็ยังแต่งตัวมอซอ ช่างก่อสร้างสร้างบ้านให้คนอื่นอยู่ใหญ่โตสวยงามแต่ตัวเองกลับไม่มีบ้านเป็นหลักแหล่งอาศัยนอนกงสีไปวันๆ ไม่นับช่างอย่างอื่นอีกมากมายที่รังสรรค์งานงดงามไว้มากมายแต่ตัวเองกลับไม่มีอะไรเป็นหลักฐานมั่นคงเลย” เสียงของแม่เมื่อครั้งอดีตดังก้องอยู่ในโสตประสาท แต่ทว่าอ้วนกลับนึกกระหยิ่มอยู่ในใจว่า “มันไม่จริงเสมอไปหรอกแม่ ถ้าเกิดว่าเราตั้งใจจริง”

1 ความคิดเห็น: