ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

พระพุทธเจ้าหลวงสอนลูก


พ่อแม่ย่อมมีความรักและปรารถนาจะให้ลูกมีความสุขกายสุขใจ สามารถตั้งตัวเป็นหลักฐานและดำรงวงศ์ตระกูลสืบต่อไป ในฐานะที่พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก ย่อมอบรมสั่งสอนลูกให้ประพฤติดี ประพฤติชอบ โอวาท คำสั่งสอนต่างๆล้วนมาจากใจอันบริสุทธิ์ ปราศจากอคติใดๆทั้งสิ้น และท่านจะปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งเมื่อลูกได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอน โอวาทนั้น

พระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราชได้มีพระราชดำริและจัดตั้งขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เป็นรากฐานสำคัญอันนำประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบัน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างยกย่องพระองค์ในหลายประการ เช่น องค์การยูเนสโกประกาศเกียรติคุณพระองค์ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก , ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ พระราชบัญญัติเลิกทาษ ( สะกดแบบโบราณ ) ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นมรดกโลกแห่งความทรงจำ

พระราชสมัญญานาม “พระปิยมหาราช” ที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพคิดขึ้นนั้นนับว่าให้คำจำกัดความได้อย่างชัดเจน ตามที่ผมได้เกริ่นนำไว้ข้างต้นเกี่ยวกับความรักและความปรารถนาดีของพ่อแม่ต่อลูกนั้นเนื่องจากได้มีโอกาสอ่านพระบรมราโชวาทอันเป็นพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมาร จำนวน ๓ ฉบับ ในร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสืองานฌาปนกิจศพนางระเบียบ แววประเสริฐ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๑๓ อันมีข้อความอันเป็นคติข้อคิดสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทันสมัยและพสกนิกรชาวไทยทุกคนควรน้อมนำมาปฏิบัติตามอย่างยิ่ง ดังนี้

พระบรมราโชวาทฉบับที่ ๑ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๑๒ พระราชหัตถเลขาฉบับนี้กล่าวถึงเรื่อง “การสามัคคีภายในเป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่ ซึ่งจะได้ต่อต้านด้วยศัตรูภายนอกอันมีกำลังกล้ากว่าแต่ก่อน ถ้าหากการสามัคคีภายในไม่มีอยู่ได้แล้ว ไหนเลยการต่อต้านภายนอกจะรับรองได้”
ในพระราชหัตถเลขาได้สรุปเหตุการณ์หลังความวุ่นวายปลายสมัยธนบุรีเรื่อยมาจนกระทั่งช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ กล่าวโดยสรุปได้ว่า
หลังเหตุการณ์ความวุ่นวายปลายสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมิได้ทำลายราชสกุลวงศ์แห่งพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่อย่างใด หากแต่ได้ชุบเลี้ยงไว้หมด “....ใช่แต่อย่างเผินๆห่างๆจนถึงเป็นหมอถวายพระโอรส และเข้ามารักษาในพระราชวัง ผู้ซึ่งเป็นบุตรแห่งศัตรูทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อได้รับพระกรุณาเช่นนั้นก็กลับกลายเป็นดีไป....”
ครั้นย่างเข้าสมัยรัชกาลที่ ๑ เกิดเหตุการณ์ที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทบาดหมางด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงขั้นสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯยุพระโอรสทั้ง ๒ พระองค์คือ เจ้าลำดวนกับเจ้าอินทปัตให้เป็นขบถ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ได้ลงโทษแต่เจ้า ๒ พระองค์นั้นซึ่งเป็นผู้จะก่อเหตุไม่สงบในบ้านเมือง “.....พระราชโอรสพระราชธิดาอื่นๆของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ได้ทรงชุบเลี้ยงโดยเสมอตามสมควรแก่คุณานุรูป...........มิได้มีความรังเกียจถือเขาถือเราอย่างใด ใช้กลมเกลียวไปทัพจับศึกได้เหมือนกัน......”
ต่อมาในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เจ้าฟ้าเหม็นซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอของพระเจ้ากรุงธนบุรีก่อขบถในเหตุการณ์ “กาคาบข่าว” แต่ทว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็มิได้มีความอาฆาตจองเวร “...แต่ถึงดังนั้นบุตรหญิงก็ยังนำมาชุบเลี้ยงถ้วนหน้า...”
ล่วงมาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเริ่มมีเหตุการณ์ระหองระแหงภายในราชสำนักระหว่างเจ้านาย ๒ พระองค์คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ( รัชกาลที่ ๓ ก่อนขึ้นครองราชย์ ) กับ เจ้าฟ้ามงกุฎ ( รัชกาลที่ ๔ ก่อนขึ้นครองราชย์ ) ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลแล้วเจ้าฟ้ามงกุฎมีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ แต่ในเวลานั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้รอบรู้ราชการในราชสำนัก มีผู้จงรักภักดีอยู่มากกว่าและเป็นที่โปรดปรานของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๒ หากแต่เจ้าฟ้ามงกุฎเองกลับเป็นผู้ตรัสว่า
“........พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงพระสติปัญญามาก และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก ถึงโดยว่าถ้ามีพระสติที่จะสั่งได้ ท่านไม่แน่พระทัยว่าจะทรงมอบราชสมบัติพระราชทาน หรือพระราชทานพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในเวลานั้นบ้านเมืองยังต้องรบพุ่งติดพันกันอยู่กับพม่า จำเป็นต้องหาพระเจ้าแผ่นดินที่รอบรู้ในราชการทั้งปวงและเป็นที่นิยมยินดีทั่วหน้า จะได้ป้องกันดัสกรภายนอกได้ .........ด้วยมีความรักแผ่นดินและราชตระกูลอันภายในเกิดแตกร้าวขึ้นแล้ว ย่อมเป็นช่องแก่ศัตรูภายนอก...”
ในสมัยรัชกาลที่ ๓นี้ยังมีเหตุระหองระแหงกับเจ้านายพระองค์อื่นอีกหลายพระองค์หากแต่พระองค์ยึดแนวพระราโชบายแห่งองค์อดีตบรรพกษัตริย์ที่ล่วงมาทั้งสองพระองค์คือ การประนีประนอม ไม่ว่าจะเป็น กรมหมื่นสุนทรบดี ( พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พรองค์เจ้ากล้วยไม้ ในรัชกาลที่ ๒ ) ซึ่งแสดงท่าทีเกลียดชังอย่างออกหน้ากันอยู่ ( ตามที่ทรงกล่าวในพระราชหัตถเลขา )
“....เมื่อกรมหมื่นสุนทรถูกไฟไหม้สิ้นพระชนม์แล้วเหลือแต่เนื้อก้อนเดียว ยังโปรดให้มาเข้าเมรุกลางเมือง บรรดาลูกกรมหมื่นสุนทรก็ได้เบี้ยหวัดมากกว่าลูกกรมอื่น......”
เมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าทินกร เสนีวงศ์ฯ เป็นผู้รู้ตำราโหราศาสตร์ได้ทำนายแช่งไว้ว่า จะไม่ได้ดำรงอยู่ในราชสมบัติเกิน ๓ ปี แต่ครั้งเมื่อหม่อมเจ้าทินกรสิ้นชีพิตักษัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็เสด็จไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เองและนำหม่อมสำเนียง (บุตร) มาชุบเลี้ยงไว้เป็นมหาดเล็กจนชั้นหลานก็ได้เป็นเอดิกง ( ราชองครักษ์ มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า aide de camp )
อีกพระองค์คือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ( หม่อมไกรสร ) “...ซึ่งเป็นคนใจพาลสันดานหยาบ ประพฤติความชั่วต่างๆเป็นอันมาก เป็นปฏิปักษ์ออกหน้าตรงๆกับทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ ๔)...” แต่ทว่ากรมหลวงรักษ์รณเรศเกิดเป็นคดีความขึ้น มีโทษถึงขั้นประหารชีวิตก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะขึ้นครองราชย์ แต่เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์แล้ว “...ก็มิได้ทรงอาฆาตจองเวรต่อบุตรหม่อมไกรสร กลับเอามาทรงชุบเลี้ยงใช้สอยสนิทสนม ได้เบี้ยหวัดมากเสียยิ่งกว่าหม่อมเจ้า......ที่สุดไปจนชั้นหลาน เช่น พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย) ก็ทรงใช้สอยสนิทสนมมิได้มีความรังเกียจเลย....”
ในรัชกาลที่ ๔ นี้ความสัมพันธ์ระหว่างวังหลวงกับวังหน้าก็เกิดเรื่องระหองระแหงกันภายใน เนื่องจากในสมัยนั้นมีผู้นิยมพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนมาก และในกลุ่มคนเหล่านั้นก็มีผู้ยุแหย่อยู่ด้วย แต่ครั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็เสด็จไปเยี่ยมอาการประชวร ๒ ครั้ง ในครั้งแรกทรงเสด็จเยี่ยมประชวรถึงห้องพระบรรทมในพระที่นั่งอิศเรศรังสรรค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีเพียงเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช)เชิญพระแสงโดยเสด็จเพียงพระองค์เดียว ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีเพียงเจ้าจอมมารดากลีบอยู่งานเท่านั้น ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามากอดพระบาททรงกันแสงว่า
“หาช่องทางจะกราบทูลอยู่ช้านานแล้วก็ไม่มีโอกาส บัดนี้ไม่มีใคร จะขอกราบบังคมทูลแสดงน้ำใจที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มีผู้กราบทูลกล่าวโทษว่าสะสมเครื่อง
ศัสตราวุธกระสุนดินดำขึ้นไว้ ก็ได้สะสมไว้จริง มีอยู่มากไม่นึกกลัวใคร แต่เป็นความสัตย์จริงที่จะได้คิดประทุษร้ายต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทไม่มีเลยสักขณะจิตหนึ่ง แล้วถวายสัตย์สาบานเป็นอันมาก ซึ่งตระเตรียมไว้นั้นเพื่อจะป้องกันผู้อื่นเท่านั้น”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกันแสงและกอดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงแสดงความเชื่อถือ ต่อมาในครั้งที่สองก็ได้ทรงเยี่ยมอาการพระประชวรที่
“สีทา”ซึ่งเป็นพระบวรราชวังซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างที่ริมแม่น้ำสักฝั่งตะวันตก ณ ตำบลบ้านสีทา จังหวัดสระบุรี และได้เสด็จไปประพาสที่วังนี้เนืองๆจนตลอดพระชนมายุ
การสมัครสมานชี้แจงกันในระหว่างพี่น้องที่ใกล้ชิดกันเช่นนี้นับว่าเป็นการดีอย่างยิ่ง และเป็นการที่ท่านได้ทรงประพฤติกันมาเป็นตัวอย่างดังนี้
จะเห็นได้ว่าในช่วงของรอยต่อระหว่างแต่ละรัชกาลนั้นมักเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้บ่อยครั้งไม่เว้นแม้แต่ในประเทศอื่นๆทั่วโลก หากแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายอื่นๆล้วนยึดประโยชน์ของแผ่นดินเป็นที่ตั้งเสมอ จึงไม่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายแต่อย่างใด
ในช่วงต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ทรงเปรียบเทียบพระองค์เองว่า “.....เหมือนตะเกียงริบหรี่จวนจะดับ แต่อาศัยด้วยปฏิบัติอธิษฐานน้ำใจในความสัตย์ธรรม มิได้วู่วามและมิได้อาฆาตปองร้ายต่อผู้ใด ตั้งใจประพฤติตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในต้นพระบรมราชวงศ์....”
ท้ายพระราชหัตถเลขาฉบับแรกนี้ได้กล่าวตักเตือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมารความว่า
“ ....จึงขอเตือนให้คิดการให้ยาวให้กว้าง อย่าคิดแต่ชนะสั้นๆดีง่ายๆจงเดินไปตามแบบแห่งบรรพบุรุษของเราได้ทรงประพฤติมา คือปฏิบัติอธิษฐานน้ำพระทัยอยู่ในสัตย์ธรรมอันซื่อตรง มิได้ตกไปในอคติ ๔ ประการและประกอบการโอบอ้อมอารีด้วยสังคหวัตถุ เป็นต้น.....ขอเติมท้ายว่า ผู้ซึ่งรังเกียจว่าจะเป็นศัตรู ถ้ายิ่งขืนทำท่าว่าเป็นศัตรูตอบ พอที่จะไม่เป็น ก็ต้องเป็นข้อนี้ขอให้ตริตรองจงมาก” ฟังแล้วน่าขนลุกไหมครับท่านผู้อ่าน
พระบรมราโชวาทฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ พระราชหัตถเลขาฉบับนี้กล่าวถึงเรื่อง “ความประพฤติ การวางตัว” เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๖ กรกฏาคมเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมาร “..เป็นเวลาที่เจ้ามีอายุเต็มเสมอเท่ากับพ่อเมื่อได้รับสมมติเป็นเจ้าแผ่นดิน..” ( รัชกาลที่ ๕ ขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษา ๑๕ พรรษา ๑๐ วัน) โดยข้อความในพระราชหัตถเลขากล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้เล่าถึงเหตุการณ์ในขณะที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆว่า บ้านเมืองในขณะนั้นอำนาจอิทธิพลต่างๆตกอยู่ในมือของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)และสายสกุล “บุนนาค” ทำให้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางต่างต้องระมัดระวังพระองค์ระวังตัวเป็นพิเศษ บรรดาขุนนางที่นับถือรักใคร่ก็เป็นแต่เพียงชั้นผู้น้อยไม่มีอำนาจต่อกรใดๆ บรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ รวมทั้งพระองค์เองก็ยังทรงพระเยาว์ ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ ซ้ำยังทรงประชวรหนักและทูลกระหม่อมเสด็จ (สมเด็จฯกรมพระสุดารัตนราชประยูร หรือ “เสด็จยาย”) ก็มาสวรรคต พระองค์เปรียบว่าเหมือนกับ “...คนศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ .........ความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้” แต่พระองค์ก็ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนานและบ้านเมืองในสมัยของพระองค์ก็เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะพระองค์ปฏิบัติดังต่อไปนี้
๑. ดูแลพระพลานามัยให้แข็งแรง อดทนอดกลั้น ไม่แสวงหาความสุขอันเกิดจากแรงปรารถนาหรือกิเลสอันจะทำให้พระพลานามัยทรุดโทรม
๒. มีใจเป็นกลาง อดทนอดกลั้น มีความเมตตากรุณา
๓. ให้ความเคารพต่อพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางที่มีอาวุโสกว่า
๔. ผู้ที่เป็นศัตรูก็เคารพนับถือและระมัดระวังมิให้เป็นเหตุให้เขามาหาเรื่องได้ ไม่พยาบาทอาฆาต
๕. ยกย่องผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้องแต่พอสมควร ใครทำดีก็ยกย่อง ใครทำผิดก็ตักเตือนหรือลงโทษ ไม่ให้ท้ายคนกระทำความผิด
๖. สละความสุขส่วนตัวและพยายามหาคนใช้สอยที่ไว้วางใจได้
๗. พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องและค่อยๆแผ่ขยายอิทธิพลออกไป ในไม่ช้าศัตรูก็จะถอยกลับและอ่อนกำลังลง
๘. ที่สำคัญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้กล่าวถึงพระราชภาระแห่งพระมหากษัตริย์ว่า
“.......ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้วจะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย....”
หลักการดังกล่าวนี้เราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เป็นหลักการง่ายๆแต่ผู้ที่เป็นผู้นำหลายๆคนมักจะมองข้ามไป ก่อให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายมาแล้วก็หลายครั้ง
พระบรมราโชวาทฉบับที่ ๓ ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๑๓ พระราชหัตถเลขาฉบับนี้กล่าวถึงเรื่อง “ประเภทของผู้ซึ่งรักใคร่ ๔ ประเภท” คือ
๑. พ่อ เป็นผู้ที่รักลูกโดยผิดก็ลงโทษ ถูกก็ชมเชย “...จนตัวพ่อเองก็มักจะทำให้เข้าใจผิดไปว่าชะรอยจะไม่มีความรักใคร่...”
๒. แม่ เป็นผู้ที่รักลูกแต่ออกจะเป็นไปในทางหลง “...ไม่แลเห็นผิดชอบอันใดสุดแต่ลูกจะประพฤติอันใด...”
๓. ผู้รักใคร่จริงด้วยความบริสุทธิ์ใจ
๔. ผู้รักใคร่ด้วยหวังผลประโยชน์
ใจความโดยสรุปคือการรู้จักรักษาถนอมน้ำใจคนอื่นไว้แม้จะรู้ว่าเขารักใคร่ด้วยหวังผลประโยชน์ “....แต่ถึงดังนั้นไม่ควรจะตัดทิ้งเสีย ควรจะรับรักนั้นไว้ เพื่อให้เป็นที่อุดหนุน แท้จริงก็มีประโยชน์ได้มากเหมือนกัน เป็นแต่ให้พึงประมาณใจ รู้จำพวกรู้บุคคล......จะเป็นที่ตั้งแห่งความเจริญดีแก่ตนสืบไป...”
นี่เป็นบางตอนที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทต่อพระราชโอรสอันแสดงออกถึงความหวังดีและพระเมตตากรุณาอันเปี่ยมล้นต่อแผ่นดินและราชการของประเทศชาติอย่างยุติธรรมหาที่เปรียบมิได้ ในพระราชหัตถเลขาเต็มไปด้วยความลึกซึ้งประทับใจ เป็นแก่นสารต่อวงศ์ตระกูลและเป็นผลดีต่อประเทศชาติในภายหลังสมกับพระราชสมัญญานาม “พระปิยมหาราช”มหาราชผู้เป็นที่รักจริงๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น