ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

เด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลงเพราะเหตุใด


หนังสือถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดในสมัยที่การพิมพ์ยังไม่กำเนิดขึ้น คนที่จะมีหนังสือไว้ในครอบครองได้จะรักษาหนังสือยิ่งกว่าชีวิต เพราะหนังสือบางเล่มกว่าจะคัดลอกจากต้นฉบับได้นั้นอาจจะต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตในการแสวงหา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วิชาความรู้ของไทยที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนั้นมีน้อยเมื่อเทียบจากหลักฐานที่ปรากฏการกล่าวอ้างในหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ อีกสาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากคนโบราณมักจะเป็นพวกหวงวิชา จนในที่สุดก็ไม่มีผู้สืบทอด
ไม่ต้องเท้าความไปนานเป็นร้อยปีหรอกครับ ลองย้อนไปสักเมื่อยี่สิบปีที่แล้วหากห้องสมุดมีหนังสือใหม่ๆเข้ามาเมื่อใด พวกเราก็มักเป็นต้องรีบไปอ่านหรือยืมมาอ่านที่บ้านกัน เพราะความบันเทิงในยุคนั้นมีน้อย ทีวีหรือถ้าเป็นวันจันทร์-ศุกร์ก็เปิดสถานีราวๆสี่โมงเย็น จำได้ว่าตอนอยู่ชั้นประถมพอโรงเรียนเลิกต้องรีบวิ่งกลับบ้านมาดูหนังจักรๆวงศ์ๆทางช่องสาม เสาร์-อาทิตย์โน่นถึงจะได้ดูทีวีเต็มวัน แต่ถ้าเป็นคืนวันอาทิตย์ก็ไม่ต้องดูอะไรเพราะมีรายการ “สนทนาปัญหาบ้านเมือง” งดละครหลังข่าวครับ เกมเหรออย่างดีก็เป็นเกมตลับจำพวกมาริโออะไรประมาณนั้น ถ้าเล่นที่ร้านก็ชั่วโมงละสิบบาทเหมือนเดี๋ยวนี้นั่นแหละ แต่ในร้านไม่ได้มีอันตรายแอบแฝงแบบร้านเกมสมัยใหม่หรอกครับ
รำลึกความหลังกันเสียยาวเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าในอดีตหนังสือถือเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งที่เด็กๆเลือก แต่ในปัจจุบันมีสื่อหลากชนิดที่น่าสนใจมากกว่าจึงทำให้หนังสือลดบทบาทของตนเองลงไป แม้ว่าจะมีรายการลดกระหน่ำจนแทบไม่เหลือกำไรแต่จากรายงานก็ยังปรากฏว่าคนไทยยังอ่านหนังสือกันน้อยเช่นเดิม
จากประสบการณ์ตรง ยกตัวอย่างง่ายๆในการสอนวรรณคดีไทยนั้น สมัยก่อนเราจะทราบได้จากการอ่านเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีสื่อหลายประเภทที่สามารถทำให้เด็กรู้วรรณคดีไทยได้ เช่น การ์ตูนเอนิเมชั่น เกมส่งเสริมวรรณคดีไทย “สังข์ทอง”ของเว็บโลกวรรณคดีดอทคอม ยังไม่นับภาพยนตร์ เช่น พระอภัยมณี , ขุนแผน , ไอ้ฟัก จากซีไรท์ “คำพิพากษา” แม้ว่าสื่อเหล่านั้นจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ก็จริงแต่นับว่ายังอ่อนด้อยในด้านความสมจริงและถูกต้องตามบทประพันธ์ ไม่ใกล้ไม่ไกลก็ละครตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์เรื่อง “สังข์ทอง”ทางช่องเจ็ดอย่างไรล่ะครับ
คงเป็นบทความรณรงค์ให้เยาวชนรักการอ่านทั่วๆไปที่ท่านคงจะอ่านเรื่องราวทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ขอฝากความคิดเห็นนี้ให้ท่านได้ร่วมวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่ม “ร้อยคำหอม”ด้วยนะครับ ลองมาชมคลิปจากภาพยนตร์เรื่อง “ทวิภพ”ดูสิครับ ตอนที่แม่มณีเล่าให้คนในสมัยรัชกาลที่สี่ฟังว่า “คนไทยในยุคปัจจุบันอ่านหนังสือปีละแค่ ๗ บรรทัด”แล้วคนสมัยนั้นย้อนถามว่า “ทำไมรึ หนังสือในยุคสมัยของเจ้ามันอ่านยากขนาดนั้นเชียวหรือ” น่ารักดีแต่แฝงความหดหู่จริงๆครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น