ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สัมผัสที่ไม่พึงปรารถนาในกลอน



เคยลงบทความเรื่อง “สัมผัสเผลอ : เมื่อนักกลอนตกเป็นจำเลยสังคม”ในบทความเดือนกันยายน ๒๕๕๑ มาแล้วมีหลายท่านถามว่า แล้วมีสัมผัสชนิดใดอีกบ้างที่ถือว่าไม่ควรที่จะใช้ในกลอนจึงได้นำมาเสนอเพิ่มเติมในคราวนี้

จากหนังสือ “กลอนและวิธีเขียนกลอน” ของ “ช่อประยงค์”ได้กล่าวว่า สัมผัสที่ไม่พึงปรารถนาในกลอนนั้นมีอยู่ ๖ ชนิด คือ

๑.สัมผัสเลือน ตามคำอธิบายของพระยาอุปกิตศิลปสาร หมายถึงสัมผัสที่อยู่ใกล้กันหลายคำจนทำให้เลอะเลือนไปหมด เช่น

“โอ้เจ้าพวงบุปผามณฑาทิพย์
สูงลิบลิบเหลือหยิบถึงตะลึงแหงน”

คำ “ลิบลิบ”กับ “หยิบ” นั้นเป็นสัมผัสรับได้ทั้งนั้น จึงทำให้พร่าไม่ไพเราะ

แต่บางท่านว่าสัมผัสเลือนหมายถึง การสัมผัสถึงคำที่ ๓ และที่ ๕ พร้อมกันในวรรครับหรือวรรคส่ง เช่น

“แม้เธอเป็นดอกฟ้าน่าถนอม
เหล่าชายล้อมอยู่พร้อมพรั่งดังฝูงผึ้ง
อย่าคิดฉันต่ำต้อยพลอยคะนึง
เอื้อมไม่ถึงก็พึงเจียมเสงี่ยมใจ”

จะเห็นว่าคำที่เป็นเสียง “อึง” นั้นมีดาษดื่นทั่วทั้งกลอน ก็ถือว่าไม่ไพเราะ

๒. สัมผัสซ้ำ หมายถึง คำที่เหมือนกันมาใช้ซ้ำกันในกลอนบทเดียวกัน ทั้งนี้เพ่งแลเสียงเป็นสำคัญ เช่น

“ถ้าฉันเป็นนักกลอนกระฉ่อนชื่อ
คนทั่วหล้านับถือพากล่าวขวัญ
ฉันคงคุยฉอดฉอดตลอดวัน
คงมีขวัญที่จะฝันเสกสรรกลอน”

ในที่นี้คำว่า “ขวัญ”มีรูปและเสียงซ้ำกันเป็นสัมผัสซ้ำ ในขณะเดียวกัน “ขวัญ” กับ “ฝัน” ก็ถือเป็นสัมผัสซ้ำด้วย

๓. สัมผัสเกิน หมายถึงการใช้คำที่มีเสียงสระหรืออักษรอยู่ชิดกันในวรรค มีทั้งสัมผัสเกินสระและเกินอักษร แต่สัมผัสเกินอักษรไม่ถือว่าเป็นข้อห้าม สัมผัสเกินสระนั้นแท้จริงก็ใช้ได้ แต่นักกลอนรุ่นหลังไม่นิยมใช้กัน ตัวอย่าง เช่น

“ไม่เคยคิดบิดเบือนว่าเพื่อนเบ่ง
ถึงเพื่อนเก่งเคร่งครัดไม่ขัดขวาง
จะคิดแปลกแหวกออกไปนอกทาง
ใจก็วางอย่างนั้นไม่ผันแปร”

“เคร่ง”ไปร่วมสัมผัสกับ “เก่ง” และ “อย่าง”ไปร่วมสัมผัสกับ “อย่าง” และ “วาง” แต่ถือว่าสัมผัสชนิดนี้ยังพอให้อภัยได้เพราะอาจไม่เจตนาหรืออาจมีเจตนาเพื่อ ย้ำคำหน้าให้เด่น , ขยายความให้ชัด , เป็นกลุ่มคำคล้องจอง , เป็นคำสัมผัสที่แยกไม่ออก

๔. สัมผัสแย่ง คือจะมีการส่งสัมผัสให้คำที่เหมาะสมในตำแหน่งที่ถูกต้อง แต่เกิดมีคำที่มีเสียงสระตัวเดียวกันมาตัดหน้าแย่งรับสัมผัสเสียก่อน เช่น

“เป็นนักเรียนไม่พอริก่อรัก
มันดีนักหรือไฉนใคร่ขอถาม
ถ้ามันงามหรือทำให้เรียนได้ความ
ก็น่าตามใจดูอยู่เหมือนกัน
แต่รู้กันความจริงนั้นมันไม่เหมาะ
เพราะรักเกาะเรียนก็อ่อนหย่อนเหหัน
ดีไม่ดีอาจดับลับชีวัน
จึงสำคัญคิดให้หนักเถิดนักเรียน”

“ความ”ควรรับสัมผัสกับ “ถาม” แต่มีคำว่า “งาม”มาแย่งสัมผัส หรือ “หัน”และ “เกาะ” ก็มีคำว่า “นั้น” , “มัน” และ “เพราะ” แย่งสัมผัส

๕. สัมผัสเผลอ เคยกล่าวไปแล้วในบทความเดือนกันยายน ๒๕๕๑ ลองย้อนไปอ่านดูนะครับ

๖. สัมผัสเพี้ยน คือสัมผัสคำที่มีเสียงสัมผัสใกล้เคียงกัน แต่ความจริงแล้วเป็นเสียงคนละเสียงกัน เช่น

“พริกขี้หนูเม็ดเดียวแม้จะเล็ก
มีรสเผ็ดหนักหนาคราเคี้ยวเข้า”

คือคำว่า “เล็ก” กับ “เผ็ด” มีเสียงคล้ายกัน แต่ไม่ถือว่าเป็นสัมผัสครับ หรืออีกประเภทหนึ่ง คือ “แข็ง” กับ “แรง” ก็ถือว่าเป็นสัมผัสเพี้ยน เพราะ “แข็ง” มาจากสระ “แอะ” แต่ “แรง” มาจากสระ “แอ” ยกเว้นอาจจะมีใช้ในกลอนปฏิพากย์เหมือนกับสัมผัสเผลอซึ่งจะอนุโลมให้ได้ในกลอนชาวบ้าน แต่ถ้าตามฉันทลักษณ์แล้วถือว่า “ผิด”

2 ความคิดเห็น: