ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อนาถการศึกษาไทย : ชีวิต (ครู )ติดตาราง



นับแต่ปฏิรูปการศึกษาไทยเป็นต้นมาเกือบจะครบทศวรรษแล้วนั้น ถามหน่อยสิว่าเราได้สิ่งดีกับสิ่งไม่ดีด้านไหนมากกว่า ใช่ว่าผมเขียนบทความนี้เพื่อจะโจมตีคนในวงการเดียวกัน แต่ทว่าความคิดบ้าๆของพวกนักวิชาการทางการศึกษาที่ได้แต่คิด แต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัตินั้นมันทุเรศเกินกว่าจะรับได้ แล้วคนที่ต้องเดือดร้อนมากที่สุดคือใคร ก็คือ “ครู”ที่ต้องสนองนโยบายขายฝันของพวก “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”เหล่านั้น บทความนี้จะขอยกตัวอย่างเรื่องของ “ตาราง” หรือ “แบบฟอร์ม” ปัญญาอ่อนนานาชนิดขึ้นมาก่อนนะครับ

เวลาที่ สมศ. เข้าประเมินโรงเรียนเราจะเห็น “จำนวนยกเมฆ ตัวเลขจอมปลอม”มากมายปรากฏขึ้นทั้งที่ในความเป็นจริงเกิดจากการตกแต่งตัวเลขให้วิลิศมาหรากันเองในหมู่ครู

ครูที่มีหน้าที่หลักในการให้ความรู้แก่ศิษย์จึงต้องเอาชีวิตมาติดกับตารางการประเมินและแบบฟอร์มนานาชนิดดังที่ตั้งชื่อบทความไว้ ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็คงมีแบบฟอร์มหรือตารางการประเมินปัญญาอ่อนเหล่านี้อยู่ในมือทั้งสิ้น เพราะถ้าเราเช็คตามสภาพจริงก็ไม่ได้เพราะอาจจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ต่างๆของโรงเรียน ก็เลยต้องปรับแต่งตัวเลข อย่างง่ายๆเช่น เกรดหนึ่งและสองต้องน้อยๆ ให้เกรดสามและสี่มากๆ ทั้งๆที่เด็กบางห้องอย่าว่าแต่เกรดหนึ่งเลย คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งก็ยังต้องกัดฟันให้เกรดสอง-สามตามนโยบายของโรงเรียน

และผลสุดท้ายเมื่อนักเรียนไปสมัครเรียนต่อในชั้นที่สูงกว่าก็จะมีคำด่าตามหลังมาว่า “นี่เธอได้เกรดสี่วิชา............มาได้ยังไง ทั้งๆที่อ่านหนังสือไม่ออก คูณหารไม่คล่อง เขียนเอถึงแซดไม่เป็น”เคยมีประสบการณ์แบบนี้บ้างไหมครับ แถมผู้ปกครองบางคนก็หลงเชื่อและชื่นชมกับ “เกรดยกเมฆ เลขคะแนนตกแต่ง”จนมาตำหนิครู ม.๑ว่า “ลูกฉันตอนประถมเรียนได้เกรดสาม-สี่ ทุกวิชามาตลอด ทำไมพอมาขึ้น ม.๑ ถึงมีแต่เกรด ๑ แถมติดศูนย์อีกตะหากล่ะคะ” รู้บ้างไหมว่าครูประถมถูกครูมัธยมด่าฝากนักเรียนที่คุณเคยสอนมาแล้วทุกปีครับ

ลองคิดดูถึงตัวครูเองสิครับว่าในหนึ่งวันนั้นจะต้องติดอยู่กับตารางอะไรบ้าง

ตารางสอน ( อันนี้จำเป็นต้องติด )
ตารางเวรสวัสดิการประจำวัน เช่น ยืนหน้าประตูโรงเรียน , รักษาความสะอาดบริเวณที่ได้รับมอบหมาย
ตารางสำรวจจำนวนนักเรียนที่มาโรงเรียนสาย
ตารางสำรวจนักเรียนที่ไม่รับประทานอาหารเช้าและเที่ยง
ตารางสำรวจนักเรียนเล็บยาว ,ผมยาว,แต่งกายไม่เรียบร้อย
ตารางตรวจสุขภาพในช่องปาก ว่ามีฟันผุกี่ซี่ ซี่ไหนบ้าง มีคราบหินปูนกี่ซี่ โรคเหงือกกี่คน
ตารางบันทึกพฤติกรรมนักเรียน
ตารางสำรวจนักเรียนแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเที่ยง
ตารางประเมินนักเรียนทั้งการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน
ตารางประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (สำรวจแม้กระทั่งการใช้ห้องสุขาของนักเรียน)
ตารางบันทึกจำนวนสถิติการป่วย ลา ขาด ของนักเรียน
ตารางบันทึกการทำความดีของนักเรียน
ตารางบันทึกการอบรมคุณธรรม-จริยธรรม
ตารางบันทึกการทำเวรต่างๆของนักเรียน
ตารางการทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนที่รับผิดชอบของนักเรียน
ตาราง/แผนผังแสดงการเดินทาง/ที่ตั้งบ้านที่อยู่อาศัยของนักเรียน
ตารางสำรวจความเป็นอยู่ของครอบครัวนักเรียน เช่น พ่อแม่อยู่ด้วยกัน , พ่อแม่หย่าร้าง , อยู่กับพ่อหรือแม่ , อยู่กับบุคคลอื่น , ฯลฯ
ตารางประเมินต่างๆในการสอน บางครั้งใน ๑ ชั่วโมงครูอาจต้องบันทึกถึง ๓ ตารางเลย เช่น ตารางบันทึกคะแนน , ตารางการประเมินทักษะกระบวนการกลุ่ม , ตารางวัดเจตคติในชั่วโมงนั้นๆตามจุดประสงค์การเรียนรู้
ตารางสำรวจหรือแบบบันทึกอะไรๆอีกสารพัดตามแต่ว่าผู้บริหารหรือนักวิชาการจะคิดได้นับ ๑๐๘ ตาราง

ตารางต่างๆเหล่านี้มีความจำเป็นครับ แต่ท่านคิดว่าครูประจำชั้น ๑-๒ คนจะมีเวลามาสำรวจตามตารางเหล่านี้ครบถ้วนหรือครับ และปัญหาส่วนใหญ่สำหรับตารางเหล่านี้คือ ส่วนเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกันนั่นเอง บางครั้งเราต้องกรอกเนื้อหาเดิมๆลงในตารางที่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ ทำให้ครูต้องเสียเวลาทำงานซ้ำซ้อนกัน และบางตารางมันไร้สาระเสียจนไม่น่าเชื่อว่าเราต้องมาเอาใจใส่ในเรื่องนั้น อย่างเช่น ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องมีการเซ็นชื่อ มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถประเมินประสิทธิภาพในการทำงานได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น ทั้งที่บางครั้งเป็นแต่ของที่ครูเนรมิตขึ้นมาเองทั้งสิ้น ไม่ใช่จากการทำจริงๆ ในขณะที่ครูบางคนที่เขาปฏิบัติจริงแต่ไม่ได้มีหลักฐานต่างๆเหล่านี้ กลับถูกตำหนิว่า ไม่มีผลงานอะไรที่เป็นหลักฐานอ้างอิงได้เลย

ขอเตือนสติผู้ที่ประกอบอาชีพครูเลยนะครับว่า ที่ผู้ปกครองส่งนักเรียนมาให้อยู่ในความดูแลของเราก็เพื่อ “ต้องการให้ลูกหลานของเขาอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น มีคุณธรรม สามารถออกไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมได้ มีอาชีพดีๆทำ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น” เท่านั้นเอง ไม่ใช่ส่งลูกหลานมาช่วยให้ครูทำวิทยฐานะผ่านเพื่อให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือให้ผู้บริหารนำผลงานนักเรียนไปประกอบการพิจารณาเพื่อให้ได้รับการยกย่องทางวิชาการแต่นักเรียนไร้คุณภาพเดินเพ่นพ่านแบบ “กบในกะลา”เต็มโรงเรียน อย่าไปบ้าจี้ตามมากนะครับ แค่ในทุกวันนี้พ่อพิมพ์แม่พิมพ์ก็ผลิตเยาวชนที่บกพร่องทางสติปัญญาและคุณธรรมออกสู่สังคมมามากเหลือเกินแล้ว หยุดทำร้ายอนาคตของชาติกันเสียที

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 ธันวาคม 2551 เวลา 02:05

    ครูดี ๆ ก็มีอีกหลายคนที่ทำงานเพื่อศิษย์อย่างแท้จริงหวังว่าครูทุกท่านคงทำหน้าที่ของพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่แท้จริงนะ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ3 ธันวาคม 2551 เวลา 20:24

    คิดเหมือนกัน..แต่ยังไงก็ต้องทำ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ28 มีนาคม 2553 เวลา 22:18

    ทุกวันนี้เยาวชนไทยมีอยู่ 2 แบบ

    1. ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด

    2. เอาตัวรอดไปวันๆแบบไม่มีความรู้

    แต่ทั้งหมดนี้ สังคมกลับไปประนามที่ตัวเด็ก ทั้งๆที่เด็กไม่ได้ผิดอะไร แค่เพียงพวกเขาได้รับการอบรมมาแบบนี้ตั้งแต่เข้าอนุบาลเท่านั้นเอง

    ตอบลบ