ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เพลงยาว : วรรณกรรมที่มากกว่าการเกี้ยวพาราสี



ย้อนหลังไปในสมัยที่การสื่อสารโทรคมนาคมยังไม่ทันสมัย ไม่ต้องไกลเป็นร้อยๆปีหรอกครับ แค่ ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา การที่หนุ่มๆจะระบายความรู้สึกภายในใจให้กับหญิงสาวที่หมายปอง หากไม่หาญกล้าพอที่จะเข้าไปบอกสาวเจ้าตรงๆ วิธีการที่ดีที่สุดคือ การเขียนจดหมายรัก ถ้อยคำที่มักคุ้นหูคุ้นตาอยู่ก็อย่างเช่น “วันที่เตือน เดือนที่รอ พอศอที่คอย”

จากนั้นก็เฝ้ารอการตอบกลับมาของฝ่ายหญิง (หากเขามีใจให้เรา) จดหมายรักเช่นนี้ในอดีตเรียกว่า “เพลงยาว”ซึ่งแฝงไว้ด้วยมนตร์เสน่ห์ที่คาดไม่ถึง แม้ว่าทางหอสมุดแห่งชาติจะได้มีการรวบรวมเป็น “ประชุมเพลงยาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติ”แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีวรรณกรรมเพลงยาวนอกทำเนียบอีกหลายๆเรื่องที่ไม่ได้ปรากฏและได้สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย

หนึ่ง เสียดายที่การเรียงร้อยถ้อยคำอันไพเราะนั้นไม่มีใครสนใจบันทึกไว้เพื่อการศึกษา

สอง เสียดายที่คู่รักไม่เก็บหลักฐานของจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ไว้เป็นอนุสรณ์และตกทอดมายังลูกหลานหรือคนในตระกูลเพื่อแสดงถึงที่มาของการก่อสานความรักของคนรุ่นปู่ย่าตายาย

ทั้งนี้เนื่องจากค่านิยมของคนสมัยก่อนเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอับอายนั่นเอง เหตุเพราะเกรงว่าลูกหลานที่เป็นหญิงจะไปหลงคารมบรรดาหนุ่มๆเจ้าชู้ประตูดินทั้งหลาย เลยกลายเป็นว่าเกิดการกีดกันผู้หญิงไม่ให้เรียนหนังสือ ด้วยเกรงลูกสาวจะริแต่งเพลงยาวโต้ตอบกับฝ่ายชาย แต่กระนั้นหนุ่มสาวหลายคู่ก็ยังอุตส่าห์ไปว่าจ้างให้คนที่รู้หนังสือช่วยอ่านและช่วยแต่งเพลงยาวให้ อย่างสุนทรภู่เองก็เคนรับจ้างแต่งเพลงยาวเลี้ยงชีพเช่นกัน

กลอนเพลงยาวเป็นสมบัติของชาวบ้านอย่างแท้จริง ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักหรือชนชั้นสูงเท่านั้น การแต่งเพลงยาวแพร่หลายทั่วไป เพราะลักษณะของกลอนเพลงยาวให้อิสรภาพแก่ผู้แต่ง คือ อิสรภาพในการคิดฝันและไม่ผูกพันกับความสั้นยาวของบทกลอน

เมื่อเอ่ยถึงเพลงยาว คนทั่วไปจะคิดเพียงว่าคือ จดหมายรัก เท่านั้น แต่จากที่ผู้เขียนได้ศึกษาใน “ประชุมเพลงยาว ฉบับหอสมุดแห่งชาติ”และการศึกษาตำราหลายเล่มนั้น พอจะสรุปถึงลักษณะของเนื้อความที่ปรากฏในวรรณกรรมเพลงยาวได้ดังนี้

๑. ประเภทจดหมายรัก เนื้อความจะปรากฏลีลากลอนทั้งสี่แบบคือ เสาวรสจนี,นารีปราโมทย์,พิโรธวาทัง,สัลลาปังคพิสัย และเวลาส่งมอบเพลงยาวชนิดนี้ของมักมีการส่งสิ่งของแนบไปด้วยแทนสัญลักษณ์ความรู้สึกให้อีกฝ่ายรับรู้ เช่น เพลงยาวที่พี่เนื่องส่งให้แม่พลอยในเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ปรากฏว่ามีขวดน้ำอบสองขวด ขวดหนึ่งบรรจุน้ำอบใส อีกขวดบรรจุน้ำอบสีขุ่นกับผ้าแพรลายพื้นผืนหนึ่ง (ลองไปหาอ่านดูนะครับ แล้วท่านจะทราบว่าของสามอย่างนั้นแทนความหมายว่าอย่างไร)

๒. เพลงยาวพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ เพลงยาวประเภทนี้มีไม่มากนัก ที่เด่นๆมีสองเรื่องคือ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา กับ เพลงยาวพยากรณ์เพลิงไหม้พระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท

๓. เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ/สรรเสริญบุคคล แม้ว่าจะไม่มีอรรถาลังการเท่าโคลงเฉลิมพระเกียรติแต่ก็สามารถให้รายละเอียดได้มากกว่าในโคลง ส่วนการสรรเสริญบุคคลนั้น เช่น “กลอนเพลงยาวชมพระยาศรีเพ็ง” ผมได้เขียนบทความแยกไว้เป็นอีกเรื่องหนึ่งแล้ว ท่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้

๔. เพลงยาวจดหมายเหตุหรือบันทึกเหตุการณ์ ผู้แต่งต้องการบันทึกรายละเอียดเหตุการณ์ที่ตนพบเห็น เช่น เพลงยาวจดหมายเหตุกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพประชวรของคุณสุวรรณ

๕. เพลงยาวพวกคำสอน สุภาษิต ข้อคิดคำสอน เช่น เพลงยาวถวายโอวาท , เพลงยาวอิศริญาณ บางเรื่องมีลักษณะคล้ายข้อธรรมะ เช่น เพลงยาวปลงสังขาร พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้างก็แต่งในทำนองตักเตือน เช่น เพลงยาวเจ้าพระ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แต่งเชิงตักเตือนพระนัดดาของพระองค์

๖. เพลงยาวเล่นว่าความ เป็นการเล่นสมมติคดีหรือเรื่องราวต่างๆขึ้นมาแล้วมีการโต้ตอบกันโดยบุคคลหลายๆคนสวมบทต่างๆ คล้ายกับการเล่นสักวา

๗. เพลงยาวบัตรสนเท่ห์ ผู้เขียนมีเจตนาจะกล่าวเสียดสีหรือกล่าวโทษบุคคล โดยไม่แสดงชื่อผู้เขียน แต่บางครั้งผู้อ่านก็จำได้ว่าเป็นสำนวนของผู้ใด ที่โด่งดังมากที่สุดคือ เพลงยาวว่ากระทบจมื่นราชามาตย์ (ทองปาน ปาณิกบุตร) ซึ่งข้าพเจ้าได้เขียนแยกเป็นอีกบทความหนึ่งแล้วเช่นกัน ลองอ่านดูนะครับ

แม้ว่าต่อมาหลังสมัยรัชกาลที่สาม ความนิยมในกลอนเพลงยาวจะค่อยๆเสื่อมลง มีภาษาร้อยแก้วเข้ามาแทนที่แต่กระนั้นเราก็ต้องยกย่องบรรพบุรุษที่ฝึกปฏิภาณกวีหลายท่านที่ได้สร้างสื่อแทนสะพานเชื่อมดวงใจของหลายคู่ให้เกิดขึ้น บังเกิดเป็นความรักอันบริสุทธิ์เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างมีศิลปะ

(ดัดแปลงจากบทความ “เพลงยาว : วรรณกรรมที่มากกว่าการเกี้ยวพาราสี” ของกระผมที่ตีพิมพ์ในนิตยสารต่วยตูนเล่มเล็ก ปักษ์แรก มิถุนายน ๒๕๔๘)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น