ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

หลักการตั้งพระพุทธรูปและรูปเคารพต่างๆ



ในยุคที่โลกก้าวไปข้างหน้าแต่ทว่าจิตใจของผู้คนขาดที่พึ่งนั้น ปรากฎพระนามขององค์เทพต่างๆที่สร้างกระแสความเลื่อมใสศรัทธาจนหิ้งพระของบางบ้านนั้นกลายเป็นตำหนักเทพหรือสำนักทรงย่อมๆเลยก็ว่าได้ แต่จะมีใครทราบบ้างว่าการจัดตั้งพระพุทธรูปและรูปเคารพต่างๆที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างไร

การจัดโต๊ะหมู่บูชานั้นที่ตั้งสูงสุดคือ พระพุทธรูป , พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์

ถัดลงมาคือองค์อัครสาวก พระอรหันต์ เช่น พระโมคคัลลานะ , พระสารีบุตร ,พระสังกัจจายนะ , พระอุปคุต , พระสีวลี

ถัดลงมาชั้นที่สอง คือพระอริยสงฆ์ เช่น หลวงปู่ทวด , สมเด็จโต , หรือพระสงฆ์คณาจารย์อื่นๆ

ถัดลงมาชั้นที่สาม คือองค์เทพเจ้า เช่น เทพเจ้าหลัก ๓ พระองค์ของฮินดู อันได้แก่ พระพรหม , พระนารายณ์ , พระศิวะ

ถัดลงมาชั้นที่สี่ คือ องค์เทพเจ้าชั้นรอง เช่น พระอุมา , พระสุรัสวดี , พระลักษมี , พระพิฆเนศ , พระขันธกุมาร

ถัดลงมาชั้นที่ห้า คือ ฤๅษี , ยักษ์ เช่น ท้าวเวสสุวรรณ , พระพิราพ

ถัดลงมาชั้นที่หก คือ บูรพกษัตริย์ซึ่งต้องเรียงลำดับตามยุคสมัยของการประสูติ เช่น สมเด็จพระนเรศวรต้องเรียงไว้ก่อนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและต้องตามด้วยพระปิยมหาราช

ส่วนผ้ายันต์ สายสิญจน์และวัตถุมงคลต่างๆควรแยกประเภทจัดวางไว้ในพานให้เป็นระเบียบ อนึ่งควรหมั่นดูแลความสะอาดของโต๊ะหมู่บูชาให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ เปลี่ยนดอกไม้ทุกวันพระ ล้างเชิงเทียน เอาก้านธูปออกจากกระถางธูปเมื่อหนาแน่นเกินไป ที่สำคัญก้านธูปห้ามนำไปทิ้งถังขยะแต่ต้องนำไปทิ้งที่โคนไม้หรือสถานที่ที่สะอาด เช่น ในวัดอย่าได้ปะปนกับขยะอื่นเด็ดขาด

การจัดตั้งพระพุทธรูปและองค์เทพต่างๆ ควรแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน เช่น พระและสิ่งเกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาก็ที่หนึ่ง เทพเจ้าพราหมณ์และสิ่งเกี่ยวเนื่องก็หิ้งหนึ่ง เทพและสิ่งเกี่ยวเนื่องของจีนก็หิ้งหนึ่ง เพราะแต่ละศาสนา ลัทธิ ความเชื่อนั้นมีส่วนของการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป บางครั้งนำมาตั้งบูชารวมกันไม่ได้ โดยเฉพาะเทพเจ้าของจีนจะมีข้อห้ามหลายอย่าง เช่น ถ้าตั้งรูปเห้งเจียแล้วห้ามตั้งรูปพระถังซัมจั๋ง , ถ้าตั้งรูปนาจาแล้วห้ามตั้งรูปเทพสามตา (เอ้อหลางเฉิง)และลี้เทียนอ๋อง (เทพเจดีย์ทอง)

การตั้งเครื่องสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ที่รูปเคารพแต่ละรูปควรตั้งแก้วบรรจุน้ำสะอาดไว้และต้องเปลี่ยนทุกๆวันพระ ส่วนเทพเจ้าของฮินดูนั้นการตั้งถวายอาหาร ควรเป็นขนมหวานที่ไม่มีส่วนประกอบของไข่หรือผลไม้ หากเป็นสมเด็จพระปิยมหาราชนั้นต้องตั้งทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองด้วย อนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่ละองค์จะมีสิ่งสักการะที่แตกต่างกันออกไป และอาจมีข้อห้ามบางประการซึ่งผู้ที่บูชาจะต้องศึกษาอย่างละเอียดเพื่อให้การบูชานั้นถึงพร้อมและถูกต้อง มิฉะนั้นอาจได้ผลในทางที่ตรงกันข้ามหรืออาจเกิดภัยพิบัติแก่ตนเองได้

หากมีข้อสงสัยก็ฝากคำถามไว้ได้ในกระทู้ความคิดเห็นของบทความนี้นะครับ และหลักการปฏิบัตินี้เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่หลักนี้ได้มาจากคำแนะนำของอาจารย์ที่ผมนับถืออยู่จึงนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น