ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

อ้ายโตปีนวัง : เรื่องของเจ้านายฝ่ายในกับความรักต่างชนชั้น



มีหลายคนสงสัยกันว่า เชื้อพระวงศ์ฝ่ายในซึ่งมียศถาบรรดาศักดิ์ยิ่งจะมีความรักต่างชนชั้นกับบุรุษที่ต่ำฐานันดรศักดิ์กว่าได้หรือไม่ อันที่จริงนั้นก็มีความเป็นไปได้หากแต่ต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์เสียก่อน ยกตัวอย่างง่ายคือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ เป็นต้น หากแต่ในสมัยที่ประเทศไทยยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็ได้มีคดีอื้อฉาวซึ่งเป็นเรื่องไม่บังควรขึ้นในเขตพระราชฐานชั้นในซึ่งเป็นที่พำนักของสตรีสูงศักดิ์และเหล่าบาทบริจาริกา จำได้ว่าคุณเอนก นาวิกมูลกล่าวถึงคดีนี้ว่า “อ้ายโตปีนวัง”


เรื่องก็มีอยู่ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดา ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๔ เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเจ้าจอมมารดาแพ สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๙


พระองค์มีข่าวอื้อฉาว เนื่องจากเมื่อครั้งยังเป็นสาวแรกรุ่น ได้เสด็จไปฟังเทศน์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่เทศน์ชื่อ พระภิกษุโต ปรากฏว่าพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้ และพระโต มีจิตปฏิพัทธ์เสน่หาต่อกัน ต่อมา พระโตได้สึกออกไป และได้แอบปีนเข้าหาพระองค์เจ้ายอดยิ่งเยาวลักษณ์ ในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท จนเกิดเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากพระองค์เจ้าหญิงพระองค์นี้เกิดทรงครรภ์ เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้ลงโทษทิดโต โดยให้ตัดศีรษะที่วัดตึก (วัดพลับพลาไชย ในปัจจุบัน) ส่วนพระองค์เจ้าหญิงยอดยิ่งเยาวลักษณ์ ถูกถอดออกเป็นสามัญชน (เป็นหม่อมยอด) และให้ไปอยู่แถวบริเวณทุ่งบางกะปิ หรือบริเวณหนองจอกในปัจจุบัน


และนับตั้งแต่นั้นมา ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงออกกฎมณเฑียรบาลใหม่ 2 ข้อ คือ


1. พระที่จะมาเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ต้องเป็นพระธรรมกถึก ที่มีอายุเกิน 45 ปี


2. เจ้านายฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกมาฟังเทศน์ที่วัดพระแก้วได้ ต้องเป็นสตรีสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40


ส่วนโอรสของหม่อมยอด หลวงเทววงศ์วโรประการ(แสน) เจ้ากรมในกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ รับเป็นบิดา เมื่อเติบโตจึงได้รับราชการเป็น "นายพันตรี หลวงศักดาพลรักษ์ (เสข)" ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารบก ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ 6 ว่า "ธรรมสโรช" เมื่อ พ.ศ. 2457 และวงญาติของพระสำราญหฤทัย(อ้าว) บิดาของเจ้าจอมมารดาแพ มารดาของพระองค์เจ้าหญิงยอดยิ่งเยาวลักษณ์ จึงใช้นามสกุลพระราชทานร่วมกันต่อมาทั้งตระกูล ตระกูลนี้จึงมีพระศักดาพลรักษ์(เสข) เป็นต้นตระกูล

1 ความคิดเห็น: