ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ฟันกะลา : ฟันปลอมของไทยสมัยก่อน



บทความนี้ตัดตอนมาจากงานเขียนของผมซึ่งได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือต่วยตูนเล่มเล็ก ปักษ์หลัง สิงหาคม ๒๕๕๐ ในเรื่อง “หม่อมเป็ดสวรรค์ : เรื่องขำขันในราชสำนัก” ซึ่งผมได้กล่าวถึงเรื่องราวของหม่อมขำเกี่ยวกับการใช้ฟันปลอมว่า

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของฟันกะลา ทำให้เราได้ทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการใช้ฟันปลอมกันแล้ว เพราะเพลงยาวได้บรรยายตัวหม่อมขำไว้ว่า

“หมั่นผัดพักตร์ผิวผ่องละอองหน้า
แต่ทันตาอันตรายไปหลายซี่
บรรจงตัดฟันกะลาที่หนาดี
ใส่เข้าที่แทนฟันทุกอันไป”

วัสดุที่นำมาทำเป็นฟันปลอมนั้นพบว่าในตอนท้ายของเพลงยาวฯกล่าวถึงความฝันของหม่อมขำว่าได้ฟันปลอมของจีนยู ช่างทำที่มีชื่อเสียงในสมัยรัชกาลที่ ๓ มา ๓ พวงคือ

“พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม้มะเกลือ
วิไลเหลือดำดีสีขยัน
พวงหนึ่งทำด้วยกะลาหนาครัน
เขาเจียนจัดขัดเป็นมันเหมือนทันตา
พวงหนึ่งทำไว้ด้วยไม้ทองหลาง
ทำเหมือนอย่างซี่ฟันขันหนักหนา
เจาะไหมร้อยเรียบเรียงดูเกลี้ยงตา
รับเอามาดูกริ่มแล้วยิ้มพราย”

วิธีใช้คือเอาไหมคล้องกับตัวฟันที่เหลืออยู่ ต่อมาผมได้อ่านพบการใช้ฟันปลอมอีกครั้งในนิราศสุพรรณของนายมี ตอนเป็นหมื่นพรหมสมพัสสร ไปเก็บภาษีที่สุพรรณราว พ.ศ. ๒๓๘๗ ร่วมสมัยเดียวกับกลอนเพลงยาวฯ ความว่า

“ที่ลางคนเฒ่าแก่ก็แต่ร่าง
ใจนั้นอย่างสาวน้อยพลอยกระสัน
เอากะลาดำดำเข้าทำฟัน
พอแก้กันแก้มห่อล่อผู้ชาย”

เนื้อความเกี่ยวกับบทความยังมีความสนุกสนานมากกว่านี้ลองไปหาอ่านจากห้องสมุดหรือร้านหนังสือเก่าแล้วกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น