ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ความสามารถด้านศิลปกรรมของนายมี (หมื่นพรหมสมพัสสร)



ในทางศิลปกรรมศาสตร์ จากการได้ศึกษาวิชาช่างเขียนจากขรัวนาค วัดเพลง นายช่างจิตรกรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่หนึ่ง ทำให้นายมีมีชื่อเสียงมากที่สุดในด้านนี้ เพราะนายมีได้บรรยายไว้ในนิราศสุพรรณว่า

“ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก
แต่ฝีปากอับชื่อไม่ลือถึง”

สาเหตุที่ทำให้ “ทุกวันนี้ฝีมือเขาลือมาก” มาจากการที่ใน พ.ศ. ๒๓๗๔ มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่ ท่านได้มีโอกาสเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (ปัจจุบันได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่ยาวที่สุดในโลกและเป็น unseen in Thailand ด้วย)ร่วมกับบรรดาช่างเขียนฝีมือดีอีกหลายท่าน ด้วยการแสดงความคิดความสามารถฝีมือในการเขียนระบายรูปภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์นี้ทำให้นายมีได้รับสมญาว่า “นายมีลงกาใหม่”

“ลงกาใหม่”มาจากการที่นายมีเลือกวาดภาพรามเกียรติ์ห้องที่กล่าวถึงตอนที่พระอินทร์รับสั่งให้พระวิษณุกรรมลงมาสร้างเมืองลงกาใหม่หลังจากที่โดนหนุมานเผาจนวอดวาย รูปห้องนั้นที่นายมีวาดกล่าวกันว่า ท่านผูกเป็นรูปภาพพระนครลงกาซึ่งนอกจากจะมีพระมหาปราสาทเป็นประธานตามขนบแล้ว รูปภาพตึกกว้านร้านรวงต่างๆที่เป็นองค์ประกอบนั้นกลับวาดเป็นแบบตึกอย่างจีนอย่างฝรั่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น เพราะเป็นการก่อสร้างอาคารแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสยามประเทศ ผู้คนต่างพากันไปชื่นชม ความคิดริเริ่มแนวใหม่นี้เองทำให้นายมีได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำแบบอย่างและมีสมญาดังกล่าว (ในการซ่อมแซมครั้งต่อๆมาจิตรกรรุ่นหลังได้ลบภาพฝีมือของนายมีทิ้งไปแล้ววาดทับลงไปใหม่ ซึ่งน่าเสียดายยิ่งนัก)

ในระยะนี้นายมียังได้รังสรรค์งานจิตรกรรมไว้อีกหลายแห่ง แห่งหนึ่งคือที่วัดเครือวัลย์วรวิหารโดยเขียนร่วมกับจิตรกรอื่นอีกเช่นกัน กับอีกแห่งหนึ่งทราบจากที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงสืบสวนและประทานบันทึกแก่นายธนิต อยู่โพธิ์ว่า

“ได้ยินเรียกกันว่า ตามี บ้านบุ เขียนห้องภูริทัตในพระอุโบสถวัดอรุณฯซึ่งไฟไหม้เสียแล้ว (เหตุการณ์ไฟไหม้เกิดในสมัยรัชกาลที่ห้า) ยังมีชิ้นปูนแตกมีรูปภาพติดดูได้ที่วังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงเก็บมารักษาไว้ชิ้นหนึ่ง เป็นฝีมือดีในรัชกาลที่สามเหมือนกันแต่ไม่เอก” น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชิ้นปูนแตกชิ้นนั้นปัจจุบันอยู่ที่ใดหรืออาจจะสาบสูญไปเสียตั้งแต่เมื่อใดแล้วก็ไม่ทราบ

(ตัดตอนจากบทความ นายมี : อัจฉริยะกวีที่โลกลืม ของกระผมที่ตีพิมพ์ในนิตยสารต่วยตูนเล่มเล็ก ปักษ์แรก สิงหาคม ๒๕๕๐)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น