ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

15 ปีมานี้มีใครและอะไรบ้างที่ทำให้ในหลวงทรงพระสำราญ ตั้งแต่สมเด็จย่าเสด็จสวรรคต



"15 ปีที่แล้วท่านทำพระหทัย มีแคลเซียมเกาะ เข้าไปทรงทำบอลลูน ท่านเจ็บมาก เจ็บเหมือนช้างสิบเชือกเหยียบไปบนหน้าอก หลังจากนั้นปีหนึ่ง สมเด็จย่าสวรรคต สมเด็จย่าดูแลพระเจ้าอยู่หัวมา เป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งแม่ตั้งแต่พระชนมายุ 1 ขวบ อันนี้ทำให้พระเจ้าอยู่หัวเสียพระทัยแค่ไหน หลังจากนั้นก็มีกระดูกทับเส้นประสาท เทคโนโลยีอาจไม่ดีนัก และความเสี่ยงสูงมาก ถ้าผ่าตัดอาจเป็นอัมพฤต อัมพาตได้ ก็ทรงรอจนทรงทนไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องทำ ทำแล้วถามว่า ณ วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรบ้างที่ทำให้ทรงพระสำราญ และปีที่แล้วนี่อะไรเกิดขึ้น พี่สาวองค์เดียวที่อยู่ในครอบครัวก็หมดไป"จากคำกล่าวของหม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงย้อนกลับไปในปี 2538 คนไทยทั้งประเทศต้องใจหาย เมื่อสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จย่ามีอาการพระหทัยกำเริบ ต้องเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช สิ่งที่คนไทยเราได้เห็นในตอนนั้น ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จไปเฝ้าที่โรงพยาบาลทุกวัน ที่โรงพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะประทับข้างแท่น ทรงกุมพระหัตถ์สมเด็จแม่และรับสั่งเล่าเรื่องต่างๆ ให้สมเด็จแม่ฟังโดยตลอดความรักความผูกพันของราชนิกูลมหิดลทั้งสี่พระองค์ ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะหาคำมาพรรณนาได้ เราขอย้อนรำลึกไปถึงจุดเริ่มต้นของความผูกพันที่ยิ่งใหญ่นั้น จากภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่หาชมได้ยาก เหตุการณ์บรรจุพระบรมอัฐิของพระบรมชนกเมื่อสิ้นพระบรมชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ 24 กันยายน 2472 (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมชนก) สี่ชีวิตในราชสกุลมหิดล ก็อยู่ใต้ไออุ่นและความรักของย่า สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ความสุขในช่วงเยาว์วัยในวังสระปทุม ของเจ้านายเล็กๆ ทั้งสามพระองค์ และแม่ สมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งในขณะนั้น ดำรงค์พระยศเป็นเพียงหม่อมสังวาลย์ ก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้สมเด็จพระพันวัสสาฯ ตัดสินพระทัย ส่งพระนัดดาทั้งสามที่พระองค์รักยิ่งกว่าดวงใจ ไปพำนักรักษาพระองค์ที่ต่างประเทศ เรือ American President Pierce นำทั้งสี่พระองค์บ่ายหน้าออกจากแผ่นดินแม่ จุดหมายคือเมืองเล็กๆ ในสวิสเซอร์แลนด์ เมืองโลซาน (Lausanne) ที่นั่นเองที่สมเด็จพระบรมราชนนีได้เป็นทั้งแม่ และพ่อให้กับพระธิดา และพระโอรสทั้งสองพระองค์ ในขณะที่สมเด็จพระพันวัสสาฯ เป็นกังวลเรื่องพระนัดดาเป็นที่สุด ได้ตรัสถึงสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ต้องแบกภาระหนักอึ้งในขณะนั้นว่า "บุญของฉันที่มาได้ลูกสะใภ้เช่นนี้ บุญของหลานที่มีแม่ที่เลิศ ไม่มีใครจะมาดูถูกได้ว่าเลวทราม ฉันพูดนี้ปลื้มใจด้วย เศร้าใจด้วย จนน้ำตาไหล"ถ้อยคำต่อไปนี้ย่อมสะท้อนความรู้สึกที่สมเด็จย่า ทรงมีต่อพระพี่นาง ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เป็นอย่างดีที่สุด"ลูกของหม่อมชั้น หม่อนชั้นรักดั่งดวงใจ และหม่อมชั้นมีความตั้งใจอยู่เสมอ ที่จะนำลูกไปในทางที่ถูกที่ดี สำหรับจะได้ประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติ และบ้านเมือง"ชีวิตของสี่พระองค์ในต่างแดน เป็นชีวิตที่เรียบง่าย ทรงเป็นอยู่อย่างสามัญชน และมีความสุข ความสะดวกสบายตามสมควร สำหรับครอบครัวเล็กๆ ในราชสกุล ที่มิได้อยู่ในสายแห่งการสืบสันตติวงศ์ แต่เป็นอีกครั้ง ที่ความสุข ความรื่นรมย์ที่ทุกพระองค์ได้รับ ก็มิอาจอยู่ได้นาน ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประกาศสละราชสมบัติ ในพ.ศ. 2477แรงกดดันและความหนักพระทัย ได้ถาโถมเข้าใส่สมเด็จพระบรมราชชนนี เห็นได้ชัดที่สุดจากที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า(2477 รัฐบาลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี)"ทั้งลูกและหม่อมชั้น ไม่มีความต้องการยศและลาภเลย แต่การที่นันท์ต้องรับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ต่อบ้านเมือง เพราะฉะนั้น จะทำอะไรขอให้พูดกันดีๆ อย่าบังคับ และตัดอิสรภาพจนเหลือเกิน การที่นันท์จะต้องมาเล่นละครเป็นกษัตริย์น่ะ ไม่ดีสำหรับเส้นประสาทเลย แต่เมื่อจำเป็นจริงๆ ก็ต้องทำ" แต่ความกดดันนั้น ก็ไม่มีทางเทียบกับฟ้าที่ผ่าลงกลางพระทัยของทุกพระองค์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489

ความสูญเสียพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อพระเชษฐาของพระองค์ลับเลือนหายไปนั้น ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้บันทึกเอาไว้อย่างน่าสะเทือนใจว่า(9 มิถุนายน 2489 สมเด็พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จสวรรคต)"ด้วยพระชนมายุเพียง 18 พรรษา 6 เดือน ในขณะนั้น ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างที่ล้อมรอบพระองค์ จะมีความเย็นชาไปชั่วขณะ ก่อนที่ความทุกข์โทมนัส จะทับถมลงมา เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ที่พระสติยังทรงรับรู้ได้ แม้ครั้งที่ทรงสูญเสียพระราชบิดา ก็ยังไม่ทรงซาบซึ้งถึงความทุกข์ เพราะยามนั้น ยังทรงพระชันษานัก แต่ในขณะที่ทรงพบเหตุการณ์เฉพาะพระพักตร์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ในความสำนึกที่ต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์ สูญเสียพี่ที่เป็นเพื่อนเล่นด้วยกัน ตั้งแต่เล็กจนโต จะประทับด้วยกัน ไปไหนไปด้วยกัน ทุกแห่งทุกหนประดุจลูกแฝด ตลอดจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์เอง ฉะนั้น ในสายตาของผู้ที่ได้พบเห็น จึงเสมือนพระองค์ถูกแยกไปแล้วครึ่งหนึ่งอย่างไม่มีวันจะกลับคืนมาอีกแล้ว คงเหลือที่จะทรงทนได้ เมื่อทอดพระเนตร เห็นภาพพระบรมเชษฐาธิราช บรรทมนิ่งอยู่บนพระแท่น(9 มิถุนายน 2489 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี)เมื่อรัฐสภาเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ที่อัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงเป็นการต่อสู้ครั้งแรกและสำคัญที่สุด ที่ต้องทรงกำพระชะตาด้วยพระองค์เอง จึงทรงกล้าที่จะตัดสินพระทัยตอบรับแผ่นดินไทย จากประชากรชาวไทยในครั้งนั้น ซึ่งผิดจากการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์พระองค์ใดทั้งสิ้นก็ว่าได้ เพราะเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นจากความไม่คาดคิดมาก่อนยังทารุณ เกิดขึ้นจากความไม่ปรารถนา ฉะนั้น ในการตัดสินพระทัยที่ทรงรับพระราชภาระ จากสมเด็จพระบรมเชษฐา จะต้องตัดสินพระทัยด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครที่จะถามความเห็นได้ หันพระพักตร์ไปทางไหนก็ทรงพบแต่ความโศกเศร้า สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงพระกรรแสง ไม่เสวย ไม่บรรทม แม้พระองค์เองก็แทบจะหมดพระสติ ทุกสิ่งเต็มไปด้วยความสับสน สิ่งที่ทรงรำลึกถึงอย่างเดียวในขณะนั้น ก็คือสมเด็จพระบรมเชษฐา เมื่อยามเสด็จมาเมืองไทย ทุกพระองค์ทรงตื่นเต้นรื่นเริงที่จะได้กลับบ้าน แต่เมื่อยามเสด็จกลับ อีกพระองค์หนึ่ง เสด็จจากไปแล้วอย่างไม่มีวันจะเสด็จกลับมาอีก จึงเป็นการเดินทางที่เงียบสงบ และสิ่งที่ไม่พ้นจากสายตาก็คือ ความทุกข์โทมนัสอย่างใหญ่หลวง ที่ปรากฏให้เห็นจากทุกพระองค์"จากครอบครัวเล็กๆ ที่มีเพียงแม่ และพี่ ด้วยการมาเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนชั่วคราว ไม่ได้เตรียมตัวมากไปกว่านั้น มีชุดผ้าสีขาว กางเกงหลวมพล่อกแพลก หมวกสานใบหนึ่ง กับกล้องถ่ายรูป รู้สึกจะมีสมบัติเพียงเท่านี้ แต่ก็เต็มไปด้วยความอบอุ่น"ก้าวแรกของการย่างพระบาตรเยี่ยงพระมหากษัตริย์ของในหลวง เป็นก้าวที่สมเด็จพระบรมราชชนนี แทบสลายพระทัย เพราะความรักของแม่ที่กลัวจะสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม่...ในโลกนี้ย่อมเข้าใจในความรู้สึกของหัวใจในความเป็นแม่ด้วยกันว่า เมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์อย่างที่เกิดขึ้น จะเป็นความทุกข์ที่แสนสาหัสเพียงใด พระโอรสที่ยังเหลือ จึงเป็นความหวังที่จะต้องทรงปกป้องเอาไว้ ไม่ยอมให้สูญเสียไปอีก เพียงขอมีความสุขที่เหลืออยู่บ้าง ตามประสาแม่ลูกเท่านั้นส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นั้น ด้วยพระพักตร์ที่เรียบเฉย ไม่มีใครรู้ ว่าส่วนลึกในพระราชหฤทัยนั้น จะเป็นความทุกข์โทมนัสเพียงใด พระองค์ทรงเก็บความรู้สึกส่วนพระองค์ไว้ในส่วนลึก และทรงทำหน้าที่พระมหากษัตริย์ โดยไม่ทรงเอาพระอารมณ์มาปะปน ระวังพระองค์ให้อยู่ในกรอบของความยุติธรรม ศีลธรรม มโนธรรมความเปลี่ยนแปลงของพระชะตาที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีการรู้ล่วงหน้า จากสมเด็จพระอนุชา ที่ทรงร่าเริงแจ่มใส แต่หลังจากวันแห่งวิปโยคผ่านไป ไม่มีใครจะได้พบรอยแย้มพระสรวลอย่างที่เคยเห็น แม้แต่น้อยอีกเลยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพระชนม์มายุ 18 พรรษา มิได้มีวัยแห่งความสนุก ความเป็นอิสระ ที่วัยรุ่นทั่วไปมี ทรงต้องต่อสู้กับความทุกข์ เรียกพระสติ ความอดทนและเข้มแข็ง ให้กลับคืนสู่พระองค์ เพราะขณะนั้น ทรงเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีแม่และพี่ ที่จะต้องคุ้มครองให้ปลอดภัยนับจากเวลานั้น ถึงปี 2538 ตลอด 50 ปี ไม่ว่าพระองค์จะทรงงานอย่างหนักมากเพียงใด ภาพความรักความผูกพัน ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จแม่ สมเด็จพระบรมราชชนนี ก็ยังประกฏให้เห็นอยู่เสมอ จวบจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายที่ทรงอยู่ด้วยกัน(จากพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2538 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ)"สมเด็จย่า ท่านเคยรับสั่งงานมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี รับสั่งว่า แม่นี่นะ เกิดมานานแล้ว ก็แก่มากแล้ว ตอนนั้นแก่มากคือ 80 กว่า ก็นับว่าแก่ แต่ทูลว่า แก่อย่างนี้ดี ยิ่งแก่ยิ่งดี เพราะว่าลูกหลานนี่นะ ถ้าพ่อหรือแม่แก่ ก็เป็นกำลังใจสำหรับลูกหลาน ว่าเค้า มีแม่ที่อายุยืน เราก็คงอายุยืนเหมือนกัน มีแม่ที่แข็งแรง เราก็คงแข็งแรงเหมือนกัน ก็เลยทูลแม่ว่า แม่ต้องรักษาตัว ทูลว่าแม่ต้องเสวย เพราะตอนนั้น เสวยนิดเดียวก็บอกว่าอิ่มแล้ว ท่านก็ผอมลงทุกที หมดแรง ไม่หิว แล้วก็รับสั่งว่า แก่แล้วจะอยู่ทำไม ก็ทูลว่า อยู่สิ เป็นประโยชน์ เป็นกำลังใจให้กับลูกหลาน"(21.17 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม 2538)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระพี่นาง ทรงจับชีพจรของสมเด็จย่าตลอดเวลา และชีพจรค่อยๆ อ่อนลง ขณะที่พระชีพจรกำลังจะหยุดเต้น พอสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเข้าไปยังห้องประทับ พระชีพจรกลับเต้นแรงขึ้น เหมือนทรงทราบว่า หลานรักเสด็จมา เมื่อเวลา 21.17 น. จึงสวรรคตด้วยพระอาการสงบ ทรงหมดลมหายใจ ขณะที่พระกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงจับอยู่ตลอดเวลา(จากพระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2538 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ)"ไปเฝ้าที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน และพระอาการไม่ค่อยดีนัก ในที่สุดพระอาการไม่ดีขึ้น หมดหนทางที่จะถวายเยียวยา หมอเราทำเต็มที่ก็เยียวยาอะไรไม่ได้ จนสวรรคต แต่ว่าเมื่อสวรรคตก็ดีใจอยู่อย่างว่า ลูกของท่านทั้งสองก็อยู่ด้วย จับพระหัตถ์อยู่ และหลานที่ท่านรักที่สุดเพราะว่าท่านเลี้ยงมา แล้วหลานนั้นก็เลี้ยงท่าน ก็มาจับพระหัตถ์ด้วย ก็สามคน ท่านก็สวรรคตอย่างสงบ"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ต้องทนทุกข์พระวรกาย จากพระอาการที่พระปิฐิกัณฐกัฐิ หรือกระดูกสันหลัง มานานนับสิบปีในปี 2538 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระอาการก้าวพระบาทขวาไม่ถนัด ขณะแพทย์ได้ทำการถวายการตรวจพระวรกาย พบว่ามีการกดทับเล็กน้อย ของเส้นประสาทที่แยกออกจากไขสันหลังระดับบั้นพระองค์ ปี 2546 แพทย์พบว่า ช่องทางเดินของเส้นประสาทไขสันหลังระหว่างปล้องของกระดูกสันหลังแคบ ปี 2548 แพทย์ได้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยวิธีกายภาพบำบัดจนถึงปี 2549 หลังจากงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงสะดุดล้มลงขณะออกพระวรกายหน้าตำหนักจิตรลดาฯ แต่ทรงลุกขึ้นยืนด้วยพระองค์เอง ต่อมาขณะแพทย์ จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายการผ่าตัดขยายช่องทางเดินประสาทของพระปิฐิกัณฐกัฐิระดับบั้นพระองค์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2549จนถึงเดือนตุลาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยอาการอ่อนพระวรกายด้านขวา แพทย์ตรวจพบพระสมองด้านซ้ายขาดเลือด แต่เป็นปลายปีนั้นเองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต้องสะเทือนพระทัยครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง(4 ธันวาคม 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรัสถึงสมเด็จพระพี่นางฯ ว่า)"พี่สาวเคยบอกว่า ถึงเวลาอายุ 80 ไม่ไหว ท่านอายุ 84 ท่านไม่ค่อยสบาย ก็เลยต้องพูดถึงท่าน ขอให้ท่านสบายและมีความสำเร็จในการรักษาตัว เดี๋ยวนี้ มีเค้าเป็นผู้ใหญ่เหลือคนเดียว คือพี่สาว คนอื่นไม่เป็นผู้ใหญ่แล้ว"ตลอดเวลาที่สมเด็จพระพี่นางฯ เสด็จเข้ารับการรักษาพระองค์ สิ่งที่เราเห็นมิได้ขาด คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมแทบทุกวัน ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมสมเด็จย่า จนถึงวันที่ 2 มกราคม 2551 ที่สายใยสุดท้ายของสี่พระองค์ ในราชสกุลมหิดล ก็ได้หลุดลอยไปจากพระองค์63 ปีที่ในหลวงทรงงานอย่างหนัก เพื่อคนไทย ไม่เป็นที่กังขาเลยว่า ตลอดระยะเวลานั้น สิ่งที่ทำให้ในหลวงทรงแย้มพระสรวลได้ก็คือ รอยยิ้มพสกนิกรในแผ่นดินของพระองค์นั่นเอง(หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้อำนวยการพัฒนาดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง)"โครงการในพระราชดำริเนี่ย ดำริเพื่อใคร ไม่ใช่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ไม่ใช่สมเด็จพระบรมฯ สมเด็จพระเทพฯ หรือเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ อย่างนี้เป็นต้น ไม่ใช่ แต่เพื่อประชาชน ถึงเวลาที่เราต้องลุกขึ้นมา คิดถึงตัวเรา ว่าเราจะทำอะไรถวายท่านได้บ้าง..."ถอดความจากบทสารคดี อะไรบ้างที่ทำให้ในหลวงทรงพระสำราญ TNN News

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น