ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

“สัมผัสเผลอ” เมื่อนักกลอนตกเป็นจำเลยสังคม


เรื่องเล่าในคราวนี้เป็นประสบการณ์ตรงของข้าพเจ้าจริงๆ มิได้อ้างอิงมาจากหนังสือเล่มใดเลย เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าได้สอน ณ โรงเรียนประจำอำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา ก่อนที่จะสอบบรรจุได้นั้น มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าจะไม่มีวันลืมตลอดชีวิต คือ การตัดสินกลอนเนื่องในวันสุนทรภู่นั้นมีนักเรียนคนหนึ่งได้แต่งกลอนเข้าร่วมประกวด ข้าพเจ้ายึดกฎตายตัวของการตัดสินโดยทั่วไป คือ หากสัมผัสผิดก็คัดทิ้ง จะไม่นำมาพิจารณา คุณครูภาษาไทยก็ทราบดี หากแต่กลอนของนักเรียนคนนี้ทุกวรรคนั้นถือว่าแต่งดี แต่มาติดตรงสัมผัสบังคับในกลอนคำสุดท้ายในวรรคที่สองของบทที่สอง กับ คำสุดท้ายของวรรคที่สามของบทที่สอง เขาได้ใช้สัมผัสเผลอ (ซึ่งข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงต่อไป) ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องไปขอค้นหลักเกณฑ์การตัดสินจากการแข่งขันกลอนในระดับประเทศจากหลายๆแห่งและจากคำแนะนำของอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งซึ่งมีความรู้ด้านฉันทลักษณ์อย่างยิ่ง เรื่องราวจึงได้ยุติ (เพราะป้าและแม่ของเขานั้นเป็นครูภาษาไทยเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้าและกล่าวหาว่าข้าพเจ้าเป็นคนไม่มีความรู้) มาถึงตอนนี้ข้าพเจ้าจะขออธิบายคำว่า “สัมผัสเผลอ”ให้ฟังกันเสียที ขอยกคำกลอนของ “ช่อประยงค์”ดังนี้

“สัมผัสหนึ่งซึ่งจัดสัมผัสเผลอ
คล้ายความเซ่อห่างจุดที่ผุดผ่อง
สัมผัสเผลอเจอน้อยในร้อยกรอง
อ่านดูคล่องแต่ว่าหาต้องการ
มีตัวอย่างอ้างอิงเห็นจริงอยู่
แทบไม่รู้เผลอไผลใครได้อ่าน
ด้วยสำเนียงเสียงนี้ไม่มีคาน
กลอนโบราณมีมากลากไปตาม
โอ้ท้องฟ้าครามองหมองหม่นไหม้
ท้องฟ้าไร้จันทร์ส่องมองวาบหวาม
มองกระแสแม้ใสไม่ได้ความ
มีแต่น้ำตื่นต้องฟองระรัว
คำว่า “ความ”กับ “น้ำ”ที่สัมผัส
ผิดบัญญัติอักษรน่ายิ้มหัว
สัมผัสนี้ที่มานั้นน่ากลัว
จะเผลอตัวว่าเสียงสำเนียงเดียว”

การใช้สัมผัสเผลอนั้นในปัจจุบันยังพบใช้กันอยู่ในการแต่งกลอนพื้นบ้าน เช่น กลอนปฏิพากย์ แต่หากเป็นกลอนแบบถูกต้องตามฉันทลักษณ์นั้นถือว่า “ผิด”ทีเดียว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทเรียนของข้าพเจ้าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนของท่าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น