ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

คดีพญาระกา : นิทานเสียดสีเชื้อพระวงศ์อันอื้อฉาว



เจ้านายที่มีบทบาทอยู่ในคดี "พญาระกา" องค์แรกก็คือพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรวรรณ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ท่านเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเขียน ซึ่งเรียกกันว่าเขียนอิเหนา เพราะเป็นละครหลวง รำเป็นตัวอิเหนาได้งดงามไม่มีใครสู้ กล่าวกันว่าเป็นเจ้าจอมที่โปรดปรานท่านหนึ่ง เมื่อประสูติพระราชโอรส สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็พระราชทานกริชแถมมาให้นอกเหนือจากพระแสงดาบที่พระราชทานพระราชโอรสทุกพระองค์ รับสั่งว่า "เป็นลูกอิเหนา"


กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ต้นราชสกุลวรวรรณ ทรงได้เลือดศิลปินทางเจ้าจอมมารดาเขียนมาไม่น้อย โปรดนิพนธ์บทละคร บทกวีและการแสดง พระนิพนธ์สำคัญๆที่เรารู้จักกันก็อย่างเช่น "สาวเครือฟ้า" ซึ่งทรงดัดแปลงจากอุปรากร Madame Butterfly ทรงเป็นเจ้าของโรงละครนฤมิตร์ ที่ได้เข้าไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังบ่อยๆในรัชกาลที่ ๖ พระธิดา ๒ พระองค์ในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระวรกัญญาปทาน พระคู่หมั้น และพระนางเธอลักษมีลาวัณย์ พระมเหสี ทั้งสององค์ทรงรับมรดกศิลปินจากพระบิดา ในพระปรีชาด้านการแต่งบทประพันธ์


แต่เรื่องที่จะเล่านี้เป็นเหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลที่ ๕ ซึ่งละครนฤมิตร์กำลังเฟื่องฟูเช่นเดียวกับเจ้านายในสมัยนั้น กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงมีหม่อมหลายคน และในจำนวนนี้ก็มีนางละครโด่งดังในคณะละครนฤมิตร์ที่ได้เป็นหม่อมด้วย ชื่อพักตร์ หม่อมพักตร์ซึ่งคงยังสาวและสวย ไม่ได้เป็นสุขกับฐานะของตน จึงทิ้งตำแหน่งหม่อม หนีออกจากวังไปเมื่อปลายเดือนธันวาคม ๒๔๕๒ ไปอาศัยอยู่ที่บ้านฝั่งธนบุรี แต่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เองก็ไม่เต็มพระทัยจะสูญเสียหม่อมพักตร์ จึงทรงติดตามไปเพื่อจะเอาตัวกลับมา เกิดเรื่องราวกับเจ้าของบ้านเป็นเรื่องอื้อฉาวถึงขั้นพวกเขาพร้อมใจกันทำเรื่องถวายฎีกาว่ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงบุกรุกเข้าไปถึงในบ้าน เอะอะใหญ่โตเป็นที่เดือดร้อนแก่ราษฎร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบจากฎีกา ก็มีพระราชดำรัสห้ามกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ไม่ให้ทำอีก


แม้ว่ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ไม่ได้ตัวหม่อมพักตร์กลับไปอย่างพระประสงค์ แต่เธอก็อยู่บ้านนั้นต่อไปอีกไม่ได้ จำต้องออกจากบ้านฝั่งธน มาอาศัยการอารักขาของตำรวจพระนครบาลทางฟากพระนคร ซึ่งขึ้นกับเสนาบดีคือเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยายมราชเห็นผู้หญิงคนเดียวจะเป็นชนวนให้เดือดร้อนกันไปทั้งกรม ก็เกลี้ยกล่อมให้หม่อมพักตร์กลับเข้าวังสวามีของเธอไปเสียให้หมดเรื่อง แต่เธอก็ยืนกรานไม่สมัครใจกลับท่าเดียว เจ้าพระยายมราชเห็นเป็นภาระยืดเยื้อแก่นครบาล ก็เลยไปทูลปรึกษาเจ้านายที่คิดว่ามีบารมีพอจะคุ้มครองหม่อมพักตร์ได้ คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทราบเรื่องก็ทรงต้อนรับและให้การคุ้มครองด้วยดี เรื่องก็สงบไป แต่ว่ากรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ไม่พอพระทัย ยังกริ้วหนักและทรงบ่นกับใครต่อใครว่าเสนาบดีนครบาลเป็นใจให้หม่อมของท่านหนี ดังนั้นแทนที่เรื่องจะจบ ก็เลยเกิดเป็นเรื่องใหญ่โตวุ่นวายยิ่งกว่าเดิมขึ้นมา


มาถึงเดือนพฤษภาคม ปี ๒๔๕๓ บทละครเรื่องใหม่ของนฤมิตร์ พระนิพนธ์ในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ที่จะไปแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง มีชื่อว่า "ปักษีปะกรนัม เรื่องพญาระกา " เมื่อนิพนธ์เสร็จ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงนำไปให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากร ต้นราชสกุล อาภากร ณ อยุธยา) เพื่อขอให้ทรงแต่งทำนองขับร้องให้ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงอ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อเรื่องพิกลๆ ก็ไม่ทรงรับทำ แต่ทรงคัดบทกลอนบางตอนไว้แล้วนำไปหารือกรมหลวงพระจักษ์ศิลปาคม (พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ต้นราชสกุลทองใหญ่ ณ อยุธยา พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔) กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม อ่านแล้วก็นำไปถวายให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อ่านบ้าง


เนื้อเรื่องของ" พญาระกา " อย่างย่อๆ มีอยู่ว่า พญาระกามีเมียมาก มีเมียตัวหนึ่งเป็นนางไก่ญี่ปุ่นซึ่งไม่พอใจตัวพญาระกา พอได้โอกาสก็แยกฝูงไป พบไก่ชนที่ปลายนาเกิดรักใคร่เป็นชู้กัน พอรู้ถึงพญาระกา ก็ตามไปตีไก่ชนจนแพ้และหนีไป นางไก่ญี่ปุ่นก็หนีเตลิดไปพบตาเฒ่านกกระทุงริมบึง ตาเฒ่าเอาไปเลี้ยงไว้ แต่ยายเฒ่านกกระทุงหึงหวง ประกอบกับได้ข่าวว่าพญาระกาผู้มีฤทธิ์กำลังติดตามค้นหา นกกระทุงจึงไล่นางไก่ญี่ปุ่นไปหาพญาเหยี่ยว พญาเหยี่ยวเห็นว่ารับไว้จะเกิดปัญหา จึงส่งนางไปถวายพญานกเค้าแมว นกเค้าแมวเกิดความปฏิพัทธ์นางไก่ญี่ปุ่น ไม่รังเกียจว่าเสียเนื้อตัวมาแล้ว เพราะนกเค้าแมวก็กินของโสโครกอยู่แล้ว จึงได้นางไก่เป็นเมียในบทตอนนี้มีกล่าวติเตียนชัดเจนว่า พญาเค้าแมวเป็นผู้หลงระเริงในราคะ จนลืมความละอายต่อบาป เอาเมียของอาเป็นเมียได้ ฝ่ายนางนกเค้าแมวมเหสีได้ข่าวก็มาหึง แต่พญาระกากลับเข้าข้างนางไก่ ไล่ตีนางนกเค้าแมวหนีกลับเข้ารังไปต่อมาพญาเค้าแมวยกทัพจะไปรบกับพญาระกา แต่เมื่อเผชิญหน้ากันยังไม่ทันรบพุ่ง ก็พอดีจวนรุ่งเช้า พญาระกาขันขึ้นมา ส่วนนกเค้าแมวตาฟางเพราะแสงอรุณเลยแพ้ เลิกทัพหนีไป


กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อ่านแล้ว ทรงเห็นว่า เป็นเรื่องแต่งว่ากล่าวกระทบกระเทียบเปรียบเปรยพระองค์ในกรณีหม่อมพักตร์ ก็กริ้วมาก ประกอบกับทรงได้ข่าว(ซึ่งรู้ภายหลังว่าไม่จริง)ว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรบทละครแล้ว มิได้ทรงทักท้วงแต่อย่างใด ซ้ำยังกำหนดจะให้เล่นถวายในวันที่ ๓ มิถุนายน เสียอีก ถ้าหากว่าเล่นขึ้นมาเมื่อไรก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต พระองค์คงจะได้รับความอัปยศอย่างมาก ทรงเห็นพระเจ้าอยู่หัวเองก็ไม่ทรงพระเมตตาพระราชโอรสเสียแล้ว ถึงปล่อยให้ละครเล่นเรื่องนี้ต่อหน้าราชสำนักได้อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นผู้มีพระทัยเร็ว เมื่อกริ้วเรื่องนี้มาก ก็ถึงขั้นบรรทมไม่หลับทั้งคืน เช้าก็ทรงประชุมข้าราชการกระทรวงยุติธรรมมาแจ้งเรื่องให้ทราบ และ ทรงมีลายพระหัตถ์ถึงเจ้าพระยายมราชเล่าเรื่องนี้พร้อมส่งบทละครไปด้วย ทรงเห็นว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นไปถึงขั้นนี้ ก็ทรงโทมนัสเกินกว่าจะอยู่ดูหน้าผู้คนได้ ขอให้เจ้าพระยายมราชจัดการตามแต่เห็นสมควร แล้วก็เสด็จลงเรือไปแต่ลำพัง ไปอยู่ที่ศาลเจ้าองครักษ์ที่ปลายคลองรังสิตก่อนหน้าเกิดเรื่องนี้


ราววันที่ ๒๐ เมษายน กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เคยทำหนังสือทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายขอลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี ทรงแถลงเหตุผลว่า ประชวร มีอาการปวดพระเศียรเป็นกำลัง ในสมองร้อนเผ็ดเหมือนหนึ่งโรยพริกไทยระหว่างมันสมองกับกระดูก คิดและจำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ทำงานแม้แต่นิดหน่อยก็เหนื่อย หมอไรเตอร์ตรวจพระอาการแล้วว่าจำต้องหยุดงานพักรักษาพระองค์ จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี พระเจ้าอยู่หัวทรงเก็บลายพระหัตถ์ฉบับนี้ไว้เฉยๆไม่มีพระบรมราชโองการลงมา และไม่เปิดเผยให้ผู้ใดทราบ จนเกิดเรื่อง" พญาระกา " ขึ้นวันรุ่งขึ้นหลังจากกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสด็จออกจากพระนครไปโดยมิได้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรมรวม ๒๘ คนก็ประชุมกัน แล้วลงชื่อถวายฎีกาขอลาออกจากราชการตามกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งถ้าหากว่าออกไปจริงๆ กระทรวงและศาลยุติธรรมก็จะล้ม ดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะขาดข้าราชการสำคัญถึง ๒๘ คน เรียกว่ายกกระทรวงออกไปก็ว่าได้ในฎีกานี้


ผู้ลงชื่อเป็นอันดับต้นคือพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ปลัดทูลฉลอง และอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือขุนหลวงพระยาไกรสี(เทียม บุนนาค) อธิบดีศาลต่างประเทศเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องวุ่นวายที่สุดเรื่องหนึ่งในปีนั้นก็ว่าได้ ประจวบเหมาะกับบ้านเมืองมีเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพะวงอยู่ถึง ๒ เรื่อง


เรื่องแรกคือท่านดยุคโยฮันน์ อัลเบร็คต์ แห่งเม็คเคล็นเบอร์ก เชวริน กำลังจะเสด็จเยือนสยาม ทางไทยไม่ต้องการให้มีเหตุขลุกขลักอะไรในบ้านเมืองเมื่อแขกเมืองมาถึง


เรื่องที่สองคือคนจีนในพระนครพร้อมใจกันประท้วงหยุดงานตั้งแต่ ๑ มิถุนายน รัฐบาลกำลังเฝ้าระวังเต็มที่ไม่ให้เกิดเหตุร้ายแทรกแซง ก็ไม่มีใครนึกว่าจะเกิดเหตุที่สาม คือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้น "สไตร๊ค์ " ราวกับจะแข่งกับคนจีนเสียเอง แล้วสาเหตุเรียกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ว่าได้ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับระบบงานในกระทรวงพอฎีกาทูลลาออกของข้าราชการ ๒๘ คนหลุดจากมือไปถึงทางการ ก็วุ่นวายกันไปทั้งกระทรวงและพระบรมมหาราชวัง คนกลางในเรื่องนี้คือเจ้าพระยายมราชได้พยายามห้ามปรามไกล่เกลี่ยเท่าไร ข้าราชการทั้ง ๒๘ (ซึ่งว่ากันว่าขุนหลวงพระยาไกรสีเป็นแกนนำ)ก็ยืนกรานจะทำจนได้ดังนั้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องฎีกา ก็ทั้งพิโรธและโทมนัสอย่างมาก ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์รวมทั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร(คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)เข้าเฝ้าด่วนเพื่อสอบสาวราวเรื่อง เพื่อจะนำไปสู่การพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด ส่วนข้าราชการทั้ง ๒๘ คนนั้น พระเจ้าอยู่หัวพิโรธมาก ถึงกับทรงเรียกว่า ' ๒๘ มงกุฎ ' และให้เขียนชื่อปิดไว้ที่ปลายพระแท่นบรรทมเพื่อทรงสาปแช่ง


จดหมายเหตุรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจดพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนนี้ไว้ว่า “ไม่มีแบบแผนอะไรเลยที่จะทำเช่นนี้ ทั้งในเมืองไทยเมืองฝรั่ง จะหาอะไรที่จะแก้แทนคนพวกนี้ไม่ได้จนนิดเดียว เปนอย่างอัปรีย์ที่สุดที่แล้ว หาอะไรเปรียบไม่ได้ เอาการส่วนตัวมายกขึ้นเปนเหตุที่จะงดไม่ทำการตามน่าที่ราชการ นับว่าปราศจากความคิด ปราศจากความกตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน และต่อแผ่นดิน ถือนายมากกว่าเจ้า”


พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ นับว่าโชคดีมากที่มีกัลยาณมิตรแท้จริง คือกรมขุนศิริธัชสังกาศ ทรงยื่นมือเข้ามาช่วยในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่มีใครอื่นช่วยเหลือได้ พอทราบเรื่อง กรมขุนศิริธัชสังกาศก็เสด็จมาที่บ้านพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ทันทีในตอนกลางดึก ปลุกเจ้าของบ้านขึ้น บังคับให้เขียนหนังสือสารภาพผิด ขอพระราชทานอภัยโทษ และขอถอนหนังสือกราบถวายบังคมลาออกกรมขุนศิริธัชสังกาศ นำหนังสือของพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเจ้าอยู่หัวทันที ไม่ให้รอช้าข้ามวัน


ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ธิดาของเจ้าพระยามหิธร เล่าว่าสามีของท่านคือ หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ได้พบหลักฐานที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุ แล้วนำมาให้ท่าน ท่านบันทึกไว้เกี่ยวกับหนังสือกราบถวายบังคมลาออกจากราชการว่า


" คุณพ่อเขียนหนังสือดี ไม่มีการหมิ่นพระบรมราชานุภาพแม้แต่น้อย คุณพ่อเขียนว่าการที่รับราชการอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้า แต่ในทางวิชาการนั้นต้องพึ่งพระปัญญาของกรมหลวงราชบุรีฯ เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯทูลลาออก คุณพ่อก็หมดปัญญาที่จะฉลองพระเดชพระคุณต่อไป ส่วนหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษนั้น คุณพ่อเขียนว่า ได้กระทำไปเพราะความโง่เขลาเบาปัญญา และถ้าแม้บังอาจกระทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเช่นนี้อีกแล้ว ก็ขอพระราชทานถวายชีวิต"


กรมขุนศิริธัชสังกาศได้นำหนังสือของพระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์เข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระเจ้าอยู่หัวก็ค่อยคลายพระพิโรธลง ข้าราชการอื่นๆอีก ๒๖ คนก็ได้ทำตามคือทำหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษหมดทุกคน เว้นแต่คนเดียวคือขุนหลวงพระยาไกรสี ซึ่งมีหนังสือกราบบังคมทูลด้วยโวหารว่าตนมิได้เป็นผู้ผิดบันทึกส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ ทรงกล่าวถึงขุนหลวงพระยาไกรสีไว้ว่า" หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์(กฤดากร) เล่าต่อไปว่า ขุนหลวงพระยาไกรสีนั้นไม่เรียบร้อยเช่นคนอื่นๆ แสดงตนกระด้างกระเดื่อง และว่าได้มีหนังสือทูลเกล้าฯแก้ตัวไปโดยโวหารหมอความ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวกริ้วมาก จะลงพระราชอาญาให้เป็นตัวอย่าง"เรื่อง ๒๘ มงกุฎที่ว่านี้ ปรากฏว่าคนต้นคิดไม่ใช่พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ แต่เป็นขุนหลวงพระไกรสี ท่านจึงถูกถอดจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศ และเคราะห์ร้ายซ้ำสอง ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ เพียงคนเดียว ส่วนคนอื่นๆได้กลับเข้ารับราชการทั้งหมด แต่ก็แน่ละว่า อนาคตทางราชการไม่มั่นคงเท่าเดิม


เจ้านายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพญาระกา ต่างก็ได้รับผลกระทบคนละอย่าง กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กลับเข้ามากราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ และได้รับพระราชทานอภัยโทษ แต่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทรงพ้นตำแหน่งเสนาบดีไปตามที่เคยกราบถวายบังคมลามาก่อน หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากรขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมแทน ส่วนกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงถูกลงโทษอย่างเจ้านาย เรียกว่าติดสนมคือต้องเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังออกไปไหนไม่ได้มีกำหนด ๑ ปี มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล แต่ว่าหม่อมและพระโอรสธิดาเจ้าไปเยี่ยมได้เป็นเวลาตามสมควรเจ้านายพระองค์ที่สามคือกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีส่วนให้กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เข้าพระทัยผิด ถูกห้ามเข้าเฝ้าจนสิ้นรัชกาลแต่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ นั้นติดสนมอยู่ไม่นาน แค่ถึงเดือนกรกฎาคม กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ก็ทูลเกล้าทูลกระหม่อมขอพระราชทานอภัยโทษให้ ท่านก็เลยได้พ้นโทษ กลับไปวังของท่านเวลาล่วงมาถึงเดือนตุลาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต

( ขอขอบคุณ เว็บไซต์วิชาการดอทคอม ที่อนุเคราะห์ข้อมูลในการเผยแพร่ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น