ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สภาพเมืองตะกั่วป่าในสมัยรัชกาลที่ห้าและประวัติของสะพานเสนา



สะพานเสนา หรือ พานเสนา ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองตะกั่วป่าระหว่างฝั่งวัดย่านยาวไปยังสถานีขนส่งตะกั่วป่านั้น มีที่มาอย่างไรนั้นก็ต้องย้อนไปสมัยพระยาเสนานุชิต (เอี่ยม ณ นคร)ได้สร้างสะพานไว้เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง เดิมทีเดียวเป็นสะพานไม้ แต่ต่อมาได้สร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก และในขณะนี้ (พ.ศ.๒๕๕๑)ก็ได้มีการสร้างสะพานใหม่ แต่ก็ยังคงเรียกว่า “พานเสนา”เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เรื่องราวในครั้งนั้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ได้เสด็จมายังตะกั่วป่า ทรงบรรยายไว้ว่า ตะกั่วป่ามีความเจริญมาก มีรถยนต์ ไฟฟ้าใช้ “.......ถ้าจะเทียบกับเมืองสงขลา ตึกที่นี่ใหญ่โตกว่าและเป็นสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องหมดตลอด มีโรงจากแทรกแซมอยู่น้อยหลัง ถนนก็กว้างราวๆกัน ระยะยาวของตลาดจะสั้นกว่าสงขลาก็ไม่มากนัก..........”

อีกพระองค์ที่ได้เสด็จตรวจราชการหัวเมืองมณฑลภูเก็ตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ คือ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวิจารณ์ว่า

“........เมืองตะกั่วป่าปรากฏว่าพระยาเสนานุชิต (นุช) เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ใช้จ่ายเงินเลี้ยงดูบุตรธิดาฟุ่มเฟือยมาก พอมาถึงสมัยพระยาเสนานุชิต (เอี่ยม) บุตรเป็นผู้ว่าราชการ เป็นคนโง่เขลา ชอบเล่นการพนัน เผอเรอจนเมืองตะกั่วป่าทรุดโทรม.....”


แต่พระองค์ได้กล่าวถึงความเจริญด้านการละครของเมืองตะกั่วป่าปรากฏในหนังสือ “ตำนานละครอิเหนา” ความว่า

“.........ส่วนละครที่หัดขึ้นตามหัวเมืองซึ่งมีชื่อว่าเป็นละครโรงใหญ่เล่นละครในมีเรื่องอิเหนาเป็นต้น คือ ..........๑๘)ละครของพระยาเสนานุชิต (นุช)เมืองตะกั่วป่าโรง ๑........”

ละครโรงนี้ได้ครูมาจากตัวละครผู้หญิงที่เมืองนครศรีธรรมราชของเจ้าพระยานครฯ (น้อย ณ นคร)บิดาพระยาเสนานุชิต (นุช) ซึ่งก็ได้รับพระราชทานมาจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์อีกทอดหนึ่ง เนื่องจากเป็นพระญาติกัน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า คงได้รับเป็นมรดกเมื่อวังหน้าสวรรคตแล้ว

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ทรงเสด็จประพาสเมืองตะกั่วป่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ ดังปรากฏในจดหมายเหตุความว่า

“.......กำหนดตามโปรแกรมว่าบ่ายๆจะมาถึงเมืองตะกั่วป่า แต่เรือพาลีซึ่งนำหน้าเรือถลางมานั้นเดินอยู่ข่างจะช้ามาก เพราะฉะนั้นกว่าจะทอดสมอที่หน้าเมืองตะกั่วป่าก็ค่ำ เห็นไฟที่ตลาดครึกครื้นน่าดูอยู่บ้าง

พอเรือทอดสมอ พระเสนานุชิตผู้ว่าราชการเมืองตะกั่วป่าลงมาเฝ้าในเรือ เชิญเสด็จขึ้นเมืองเวลาทุ่มเศษ ทรงเรือมาดแจวไปขึ้นท่า ตะพานตกแต่งไว้รับเสด็จประดับด้วยใบไม้และโคมญี่ปุ่นตลอด ข้าราชการเฝ้าที่ปลายตะพาน เสด็จขึ้นทรงเก้าอี้ หามขึ้นไปที่จวนเจ้าเมือง......ประทับเสวยที่จวนเจ้าเมือง.......” เนื่องจากมาถึงเมืองตะกั่วป่าในเวลามืดจึงไม่ได้ทรงบรรยายสภาพเมืองตะกั่วป่าในขณะนั้นมากนัก

ในคราวต่อไปจะนำเสนอเรื่อง “สังข์ทอง” ที่เกี่ยวข้องกับเมืองตะกั่วป่า เอ๊ะ....แล้วจะเกี่ยวกันยังไง ติดตามอ่านกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น