ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เพลงยาวว่าจมื่นราชามาตย์






เพลงยาวประเภทนี้จัดว่าเป็นเพลงยาวชนิดบัตรสนเท่ห์ ผู้แต่งคือพระยามหามนตรี ( ทรัพย์)ว่าจมื่นราชามาตย์ (ทองปาน ปาณิกบุตร) บทกลอนเป็นไปในทำนองเสียดสีที่มีสำนวนโวหารคมคายลึกซึ้ง ทั้งลีลากลอนก็เรียบรื่นซึ่งมีไม่มากนักในวงวรรณกรรมไทย ตัวอย่างเนื้อความ เช่น

“เขาชมบุญเรียกเจ้าคุณราชามาตย์
แต่ร้ายกาจเหมือนยักษ์มักกะสัน
ลงนั่งยังนาวาเหมือนชาละวัน
ขึ้นบกตกมันเหมือนสิงห์ทอง
จะเข้าวังตั้งโห่เสียสามหน
ตรวจพลอึกทึกกึกก้อง
ห่มผ้ากาน้ำมีพานรอง
หอกสมุดชุดกล้องร่มค้างคาว
...............................................
..............................................
ถนนกว้างสี่วามาไม่ได้
กีดหัวไหล่ไกวแขนให้ขัดข้อง
พวกหัวไม้เห็นกลัวหนังหัวพอง
ยกสองมือกราบอกราบดิน”

พระยามหามนตรี (ทรัพย์)คือผู้แต่งหัสวรรณคดีเลื่องชื่อนาม “ระเด่นลันได”นั่นเอง ดูจากเรื่องราวที่ท่านแต่งแล้วคงจะเดาอัธยาศัยของท่านออกนะครับ
เพลงยาวว่าพระมหาเทพ (ทองปาน) ซึ่งมีลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์นี้ มีผู้ลอบนำมาปิดไว้ ณ ที่ทำการของพระมหาเทพ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็น จมื่นราชามาตย์ ปลัดกรมพระตำรวจในซ้าย ในรัชกาลที่ ๓ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้แต่งเพลงยาวนี้คือ พระมหามนตรี (ทรัพย์) ปลัดกรมพระตำรวจในขวา นั่นเอง ข้อความเป็นเพลงยาว นี้ได้รับการพิมพ์ลงในหนังสือ วชิรญาณวิเศษ (พิมพ์โดยคงรูปอักษรวิบัติ)


มีความว่ามิเสียที ที่เขามี วาศนา

แต่ เหนๆ ได้เป็น ขุนนางมา
ไม่เหมือน ราชามาตย์ ในชาตินี้

ประกอบหมด ยศศักดิ์ แลทรัพย์สิน
เจ๊กจีน กลัวกว่า ราชาเสรษฐี

เมื่อชาติก่อน ได้พร ของหลวงชี
จึงมั่งมี ดูอัศจรรย์ครัน

เขาชมบุญ เรียกเจ้าคุณ ราชามาตย์
แต่ร้ายกาจ เกือบยักษ์ มักสัน

ลงนั่ง ยังนาวา เหมือนชาละวัน
ขึ้นบก ตกมัน เหมือนสิงห์ทอง

จะเข้าวัง ตั้งโห่ เสียสามหน
ตรวจพล อึกทึก กึกก้อง

ห่อผ้า กาน้ำ มีพานรอง
หอก สมุด ชุดกล้อง ร่มค้างคาว

นุ่งปูม เขมรใหม่ วิไลเหลือ
สวมเสื้อ ได้ประทาน ห่มส่านขาว

ลงจาก หอ กลาง หางหงส์ยาว
เมียชมว่า งามราว กับนายโรง


(สมัยก่อนที่ยังไม่มีระบบบำเหน็จความดีความชอบด้วย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ข้าราชการ จะได้รับพระราชทาน ห่อผ้ากาน้ำ พานทอง หอก สมุด ชุดกล้อง/ยาสูบ ร่มค้างคาว เรือกัญญา ฯลฯ จากพระเจ้าแผ่นดิน สิ่งของเหล่านี้จึงใช้นำมาอวดกันในหมู่ข้าราชการ )


ช่างหมดจด งดงาม ถึงสามอย่าง
จะไว้วาง กิริยา ก็อ่าโถง

แต่ใจโต กว่าตับ คับซี่โครง
เมื่อเดินโคลง โยกย้าย หลายทำนอง

ถนนกว้าง สี่วา มาไม่ได้
กีดหัวไหล่ ไกวแขน ให้ขัดข้อง

พวกหัวไม้ เหนกลัว หนังหัวพอง
ยกสอง มือกราบ อก ราบดิน

ด้วยอำนาจ ราชศักดิ์ นั้นหนักหนา
ถ้าเข้า(ขื่อ)คา แล้วแต่ล้วน เปนสัตย์สิ้น

มีทหาร ชาญชัย ใจทมิฬ
ดังจะกิน เนื้อมนุษย์ สุดภิภพ

"ไชยภักดี" ว่าที่ ขุนต่างใจ
ทั้งนอกใน ไว้เวร ก็เจนจบ

"ศรีสังหาร" พนักงาน การ(จอง)จำคบ (ขื่อคาคบไม้)
"แสนใจรบ" รับเรียก ค่า ฤชา

ทั้งสามนาย ยอมตาย ในใต้เท้า
มิเสียที มีบ่าว คราววาศนา

เคยเชื่อใจ ไว้วาง ต่างหูตา
รู้อัทธยา อาไศรย น้ำใจนาย

หยุดที่ทิม กรมวัง นั่งสูบกล้อง
ดูทำนอง กรุ้งกริ้ง หยิ่งใจหาย

พวกลูกความ ตามหมอบ เที่ยวยอบกาย
กลัวกว่า พระยานาย บ้านเมืองดี

หมอจีน ดูไว้ ในตำรา
ดวงชะตา ขึ้นเมษ ราษี

คงจะถึง (เจ้าพระยา) พานทอง ในสองปี
ถ้าเต็มที ผิดคาด ราชรองเมือง

ข่าวนอก พูดกัน ขันเต็มที
ว่ากลางคืน รัศมี สีเนื้อเหลือง

ดูในเรือน เหมือนแสง แมงคาเรือง
คนฦาเลื่อง พูดมาก ปากวัดวา

พระยา บำเรอบริรักษ์ ได้ซักถาม
ว่าเดิมความ โด่งดัง ขึ้นวังน่า

สมภาร วัดลิงขบ คบภรรยา
ไปพูดจา กันที่วัด น่าอัศจรรย์

ครั้นพิเคราะห์ ดูความ เหนงามแน่
จนชาวแพ โลงเล่า เหล่าบางยี่ขัน

ต่างนิยม ชมชื่น ตื่นกันครัน
ว่าเหมือนพระ พิมพ์สวรรค์ ผู้รุ่งฟ้า


"วัดลิงขบ" เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกัน ชื่อทางราชการคือ "วัดบวรมงคล" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชั้นราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ใกล้กับโรงงานสุราบางยี่ขัน ท้องที่บางพลัด กรุงเทพมหานครในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชาวรามัญ (มอญ) อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมาก และมีพระสงฆ์ติดตามมาด้วยล้นเกล้าฯ จึงทรงกำหนดสถานที่ให้อยู่เป็นที่ๆ รวมทั้งบริเวณ วัดลิงขบ นี้ด้วย ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (พระเจ้าน้องยาเธอ ในรัชกาลที่ ๒) ได้ทรงสถาปนา วัดลิงขบ นี้เป็นพระอารามหลวง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบวรมงคล”


ช่างสมบุญ ทั้งเจ้าคุณ ผู้หญิงใหญ่
งามลักษณะ วิไล ดั่งเลขา

งามละม้าย คล้ายแสง สุริยา
เทวดา ดลใจ จึงได้กัน

หม่อมชาว สุรินทร์ ชื่อศิลลา
เปนเทือกเถา เหล่าพระยา กุขัน

หม่อมทับทิม ที่ต้องเลือก เทือกรามัญ
หม่อมลูกจันทร์ เปนลาว ชาวอัดตะปือ

ตกลงมา อยู่กรุง พุงโลป่อง
แต่ลงท้อง ตาลอย อยู่น้อยหรือ

รอดด้วยยา เข้าอึ่ง กับกิ้งกือ
พึ่งจะรื้อ จากไข้ ได้สามเดือน

ซื่อสัตย์ สุจริต สนิทสนม
คุณชายชม นักหนา หาไม่เหมือน

โปรดให้เปน ที่สอง รองแม่เรือน
ได้ตักเตือน ดูแล แม่น้อยๆ

ให้คลานศอก คลานเข่า เคล่าคล่อง
ถูกทำนอง นางใน ไว้ใช้สอย


(ตีเสมอเจ้า ด้วยการให้คนรับใช้ คลานศอกคลานเข่าเข้าหา)

พนักงาน ของใคร ก็ใครคอย


ได้ระเบียบ เรียบร้อย ทั้งถ้อยคำ

เวลา เจ้าคุณ ออกจากเฝ้า
ให้ร้องเรื่อง อิเหนา เมื่อเข้าถ้ำ

ฝ่ายหม่อม ที่คะนอง ร้องลำๆ
จนท้องน้ำ เลื่องฦา ระบือชา

นั่งอวด **สม**เสีย ให้เมียกลัว
เกิดเปนตัว กูนี้ มีวาศนา


สมในที่นี้คือ "ผ้าสมปัก" เป็นผ้าทางราชการ ยศก็ดีสังกัดก็ดีสังเกตได้จากผ้าสี โดยปกติไม่นุ่งกัน นอกจากเข้าเฝ้าหรือตามเสด็จพระราชดำเนิน แม้แต่นุ่งจาก บ้านจะเข้าวังก็ใช้ผ้าอื่นนุ่งมาก่อน สมปักให้ทนาย (พลทหาร) ถือตามมานุ่งในวัง นั่งอวด **สม**เสีย ให้เมียกลัว หมายความว่า แต่งเครื่องแบบตำรวจ นั่งอวดเมีย นั่นเอง


เครื่องเสวย คาวหวาน ประทานมา
กินข้างหน้า เลื่องฦา ออกอื้ออึง

ฝ่ายหม่อม ภรรยา บรรดานั่ง
ครั้นได้ฟัง กลัวขลาด ไม่อาจหึง

อีสาวๆ เหล่าพวก ช่างสะดึง
มัดกีดอยู่ นิดนึง หรอกกระมัง

คิดว่า จะให้หัด มโหรี
เด็กๆ เสียงดี มีอยู่บ้าง
ถึงวันพระไม่ชำระความในวัง

ออกมานั่ง หอ นอก ออกแขกเมือง

พวกทนาย เรียงราย ของกำนัล
เจ๊กนั่น จีนนี่ มีหลายเรื่อง

เฮ้ยบ่าว อุปราช ใครขาดเคือง
พวกหัวเมือง ขัดสน ขนไปกิน

ปลูกเรือน เหมือนกับ ถวายฎีกา
นึกคอย วาศนา เมื่อน่ากฐิน


(ปลูกบ้านใหญ่โตเหมือนพระราชวัง ห้องหับใหญ่โตเหมือนท้องพระโรงที่ใช้รับถวายฎีกาจากราษฎร)


ปัญญาท่าน แทงลอด ตลอดดิน
ควรจะภิญโญยศ ปรากฏไป

คนนอก พูดกัน นั้นไม่เหน
เมื่อครั้งเปน นายทองปาน ท่านสงสัย

ข้าเจ้าได้ ส่องกล้อง เป่าไฟ
ไม่ใกล้ไกล ออกกลัว ฝากตัวเอย


“เจ๊กจีนกลัวกว่าราชาเสรษฐี” ราชาเสรษฐี เป็นตำแหน่งขุนนางใช้เรียกมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า โชติเศรษฐี ว่าเป็นเศรษฐีร่ำรวยมหาศาลทีเดียว คำว่าโชติ เป็นภาษาบาลี เป็นคำเดียวกับที่เราเอามาใช้ว่าโชดึก ในหนังสือเก่าเขียนว่าโชฎึกก็มี คำนี้แปลว่า ผู้มีความรุ่งเรือง ผู้มีความสว่างไสว


ตำแหน่งโชฎึกราชเศรษฐี เป็นตำแหน่งรุ่นเดียวกับราชาเศรษฐี ในสมัยอยุธยา หลวงโชฎึกราชเศรษฐี จะทำอะไรบ้างไม่ทราบชัด มีปรากฏไว้ในกฎหมายว่า อนึ่งเบิกสำเภาเรือใหญ่ทั้งปวงไปมาณะปากใต้ แลมีตราพระจุลาราชมนตรี แลตราพระโชฎึกราชเศรษฐีเบิกไปมาตามได้พนักงานนั้น แต่ในสมัยกรุงเทพ ฯ มีหน้าที่ควบคุมชาวจีนทั่ว ๆ ไป และมีบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นถึง พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ว่าราชการ กรมท่าซ้าย


การที่ "เจ๊กจีน กลัว จมื่นราชามาตย์ มากกว่ากว่า ราชาเสรษฐี" ย่อมแสดงว่า จมื่นราชามาตย์ เป็นผู้ทรงอิทธิพลมากทีเดียวในสมัยนั้น
นอกจากนี้ถ้าผู้ต้องหาไม่รับสารภาพ พระมหาเทพ (ทองปาน) ก็เอาเข้าขื่อคาทรมานจนต้องรับหมด พระมหาเทพ (ทองปาน) มีลูกน้องซึ่ง ยอมตายในใต้เท้า อยู่สามนาย คือ ขุนไชยภักดี ทำหน้าที่คล้ายเลขานุการคนสนิท ขุนศรีสังหารพนักงานการ(จอง)จำ(ขื่อ/คา)คบ(ไม้) ทรมานลงโทษ และขุนแสนใจรบ เป็นพนักงานเรียกค่าฤชา ค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับเฉพาะตัวบุคคล


พระมหามนตรี (ทรัพย์) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจในขวา (ดังที่ปรากฏท้ายเพลงยาวว่าเป็นผู้อยู่ "ไม่ใกล้ไกล") และเป็นผู้สำนึกในหน้าที่ไม่อาจวางเฉยอดทนดูความไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมในการกระทำของจมื่นราชามาตย์ได้ จึงได้แต่งเพลงยาวนี้ขึ้นเพื่อเป็นการประจาน


เพลงยาวแผ่นนี้ เจ้าพระยาบำเรอภักดิ์ สมัยนั้นเรียกกันว่า เจ้าพระยาบำเรอภักดิ์ตกกระ เพราะท่านตกกระไปทั้งหน้าตาและแขน เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เพราะมีผู้คน และ ขุนนางพากันมุงอ่าน ท่านจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย


พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ คืนให้นำไปปิดไว้ดังเก่า รับสั่งแต่เพียงว่า "เขาหยอกกันเล่น" (ความไม่เป็นถ้อย หมอยไม่เป็นขน) โดยมิได้กริ้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แท้จริงแล้วในกฎหมายตราสามดวงบทพระอัยการหลวง มาตรา ๕๔ มีกล่าวไว้ว่า "ผู้ใดรู้เหน เปนใจ หรือมิได้รู้เหนเปนใจ แต่รู้อยู่ว่ามีการข่มเหงราษฎร ไพร่ พลเมืองให้ได้รับความเดือดร้อน หากมิได้นำความมากล่าวพิดทูลให้ทราบ ผู้นั้นมีโทษด้วย"


ดังนั้นเพลงยาวบทนี้ จึงเป็นเครื่องแสดงถึงความมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวของ พระมหามนตรี (ทรัพย์) เป็นที่น่าแปลกใจว่า ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมานานแล้วแต่สังคมศักดินาก็ยังไม่เปลี่ยนไปส่วนชีวิตของพระมหาเทพ ( ทองปาน ปาณิกบุตร)นั้นได้อ่านจากหนังสือเล่มหนึ่งจำได้เลาๆว่า หลังจากท่านถึงแก่กรรม ครอบครัวก็บ้านแตกสาแหรกขาด ทรัพย์สินกระจัดกระจายเนื่องจากบรรดาเมียๆลูกๆต่างแย่งชิงมรดกกันนั่นเอง เวรกรรมมันออนไลน์จริงๆครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น