
- ร้อยเรื่องเมืองตะกั่วป่า
- บรรยากาศงานแสดงการบินครั้งแรกในสยามที่ปรากฏในวรรณกรรมไทย
- นามสกุลพระราชทานใน จ.พังงา
"นามสกุลพระราชทานใน จ.พังงา"
อย่างที่ตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า "นามสกุลพระราชทานใน จ.พังงา" จะกล่าวถึงเรื่องนามสกุลพระราชทานในจังหวัดพังงา ก็อาศัยจากการตั้งสมมติฐานเอาว่าในเมื่อเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีความเจริญสูงในอดีต มีพระมหากษัตริย์ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯหลายครั้ง ก็น่าที่จะมีผู้คนได้รับหรือขอพระราชทานนามสกุลบ้างเป็นแน่
สาเหตุที่ผมขยายฐานการค้นคว้าเป็นระดับจังหวัดเพราะว่าคนสมัยก่อนนิยมการมีลูกมากประกอบกับการกระจายตัวของประชากรในปัจจุบันมีอัตราสูงขึ้น ลูกหลานของคนเหล่านั้นตอนนี้อาจจะมีอยู่ทั่วสารทิศ ไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในเมืองตะกั่วป่าเท่านั้นและอาจจะไม่ทราบเสียด้วยซ้ำว่าบรรพบุรุษของตนมีความเป็นมาอย่างไร
ขอเท้าความก่อนว่าก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 22 มีนาคม 2455 นั้นคนไทยยังไม่มีนามสกุล หากจะกล่าวถึงบุคคลใดก็มักจะกล่าวถึงจุดเด่นของบุคคลนั้นใน 5 ลักษณะ คือ
- ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใด เช่น ตามีบ้านบุ , นางนากพระโขนง
- จุดเด่นในร่างกาย เช่น ยายน้อยค่อม , นายจันหนวดเขี้ยว
- การประกอบอาชีพ เช่น จีนยูช่างทำฟัน , นายหรีดเปรียญ , หลวงโอสถนอกราชการ
- สมญานามหรือฉายา เช่น บุษบาท่าเรือจ้าง , แมวอิเหนา
- เท้าความถึงวงศาคณาญาติ เช่น อ้ายมิ่งลูกตามา , นายแช่มบุตรหลวงเทพฯ
หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวก็เป็นหน้าที่ของข้าราชการและชาวบ้านในการมาขึ้นทะเบียนนามสกุลของตนโดยอาจให้เจ้าหน้าที่คิดให้
นามสกุลนั้นต้องมีความหมายดีเป็นสิริมงคลเช่นเดียวกับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลและลูกหลานที่จะใช้สืบต่อไป นอกจากจะให้เจ้าหน้าที่ตั้งให้ บางคนก็อาจจะให้พระสงฆ์ที่เคารพนับถือตั้งให้ นอกจากนี้บรรดาข้าราชบริพารใกล้ชิดและประชาชนทั่วไปหรือคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มักทูลขอพระราชทานนามสกุลจากพระองค์หรือพระองค์พระราชทานให้เองก็มี โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างชัดเจน
ต่อมาคุณเทพ สุนทรศารทูลได้รวบรวมจัดพิมพ์ไว้เป็นหนังสือชื่อ “นามสกุลพระราชทาน 6,432 สกุล” นับว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว
นามสกุลแรกของไทยนั้นทรงพระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เสนาบดีกระทรวงนครบาล พระราชทานนามสกุลว่า “สุขุม” ประกาศวันที่ 23 มิถุนายน 2456 ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 30 ภาค 1
นามสกุลสุดท้ายคือลำดับที่ 6,432 นั้นทรงพระราชทานให้นายประดิษฐ์ ผู้ช่วยนายเวรกรมบัญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พระราชทานนามสกุลว่า “ตันตริยานนท์” ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2468 ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 42 ภาค 1 หน้า 1,392
และในจำนวนนามสกุลทั้งหมดนี้พบนามสกุลพระราชทานในจังหวัดพังงาทั้งสิ้น 21 นามสกุลด้วยกันดังนี้ ( ตัวเลขด้านหน้าคือลำดับที่ของนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน-ผู้เขียน)
- 2307 รองอำมาตย์เอก ขุนประสาตร์เวชสาร (สาย)แพทย์ประจำเมืองตะกั่วป่า พระราชทานนามสกุลว่า “กาลเศรณี”
- 2309 รองอำมาตย์โท หลวงนรเทศภักดี (คล้าย)ปลัดเมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “สิงหเสม”
- 2310 รองอำมาตย์โท ขุนอานุภาพภักดี (วัน)ยกกระบัตรเมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต กับนายเพียร แลนายพิณ ยกกระบัตรเมืองพัทลุง แลนายรุ่น น้อง พระราชทานนามสกุลว่า “พฤกษะศรี”
- 2311 รองอำมาตย์โท ขุนถลางเถลิงศักดิ์ (เพิ่ม)ปลัดเมืองพังงา มณฑลภูเก็ต กับนายสาย บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “กนิษฐายน”
- 2323 รองอำมาตย์เอก หลวงกระบินทน์ธุรารักษ์ (จร)ผู้รั้งราชการเมือง เมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “ศกุนตลักษณ”
- 2326 รองอำมาตย์โท หลวงโลหภูมิพิทักษ์ (หนูวงษ์) นายอำเภอตะกั่วทุ่ง มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “เศวตะดุล”
- 2328 รองอำมาตย์โท หลวงพินิจอักษร (ท้วม) กรมการพิเศษเมืองพังงา มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “จันทนานนท์”
- 2331 รองอำมาตย์ตรี ขุนชำนาญชนานุวัตร (เน้า) นายอำเภอทุ่งมะพร้าว เมืองพังงา มณฑลภูเก็ต กับขุนสนิทภักดี (เพรา)บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “พรหมภัทร์”
- 2353 รองอำมาตย์ตรี ปั้น นายอำเภอปากน้ำเมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “สวัสดิสิงห์”
- 2356 รองอำมาตย์โท ขุนปลูกนิสัยเหมาะ (ฉัย) ธรรมการเมืองพังงา กับนายปุ่น บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “ยวนะปุณฑ์”
- 2358 รองอำมาตย์โท ผล ธรรมการเมืองตะกั่วป่า กับนายฟัก บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “สุวรรณภัค”
- 2835 นายหมู่โท เพียร ผู้กำกับลูกเสือภูเก็ตที่ 4 บริรักษ์บำรุง เมืองพังงา มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “บุณยะผลึก”
- 3897 นายร้อยตำรวจโท กล๊ะ ผู้บังคับกองตำรวจภูธรจังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “ลัญชานนท์”
- 3907 รองอำมาตย์โท ขุนบริบาลธนกิจ (แช่ม) พนักงานคลังจังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “จินตะนานุช”
- 3945 รองอำมาตย์เอก หลวงราชอาญัติ (กล่อม) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตะกั่วป่า พระราชทานนามสกุลว่า “ประทีป ณ ถลาง”
- 4382 ผู้กำกับโท ทรัพย์ ครูใหญ่โรงเรียนเสนานุกูล จังหวัดตะกั่วป่า กับนายดำ ปู่ นายเผือก บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “ยูวนะวัต”
- 4383 ผู้กำกับโท เล็ก ครูใหญ่โรงเรียนบริรักษ์บำรุง จังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “ฐิโตปะการ”
- 4386 รองผู้กำกับโท เกียรติ์ ครูประจำโรงเรียนบริรักษ์บำรุง จังหวัดพังงา กับนายตู้ บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “ บุณะกานนท์”
- 4711 รองผู้กำกับโท กฤติน ครูผู้ตรวจอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “บุญลิปตานนท์”
- 4712 รองผู้กำกับโท เจษฏ์ ครูผู้ตรวจการอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “อันติมานนท์”
- 4763 นายหมู่ลูกเสือโท เพน ครูผู้ตรวจการอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา กับนายกลิ่น บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “กันธานนท์”
จากการศึกษานี้พบว่าในปัจจุบันนั้นบางนามสกุลไม่ปรากฏในตะกั่วป่าหรือจังหวัดพังงาแล้วก็มี บางนามสกุลยังพบอยู่แต่หาผู้ที่จะเล่าถึงความเป็นมาของบุคคลในตระกูลได้ยาก บางนามสกุลกลับไปพบในจังหวัดที่ห่างไกลจากจังหวัดพังงาเสียด้วยซ้ำ ทราบมาว่าที่สถาบันราชภัฏภูเก็ตมีการรวบรวมรายชื่อนามสกุลพระราชทานของจังหวัดไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมโดยจัดเป็นแผ่นป้ายจารึกไว้เลยทีเดียว นับว่าเป็นการนำเสนอที่น่าสนใจและสร้างความภาคภูมิใจแก่ลูกหลานในตระกูลอย่างยิ่ง
ตามปกติแล้วในการพระราชทานนามสกุลนั้นจะมีใบประกาศนามสกุลพระราชทานแผ่นหนึ่งมอบให้กับผู้ได้รับพระราชทานด้วย (เคยเห็นใบประกาศพระราชทานนามสกุล “หงสกุล”แก่พระยาสามภพพ่าย ซึ่งทายาทยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่ทราบเหมือนกันว่าทายาทของผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลในจังหวัดพังงาเหล่านี้จะยังคงเก็บรักษาไว้หรือไม่)
นอกจากการประกาศให้คนไทยใช้นามสกุลแล้ว ต่อมาพระองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นด้วย คือ ให้ใช้ “พุทธศักราช” แทน “รัตนโกสินทรศก” เปลี่ยนแปลงการนับเวลาของทางราชการแบบใหม่ให้สอดคล้องกับสากลนิยม โดยถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ กำหนดคำนำหน้านามสตรีที่ยังไม่แต่งงานว่า “นางสาว” แทนคำว่า “อำแดง” และสตรีที่มีสามีแล้วว่า “นาง” กำหนดคำนำหน้านามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีว่า “เด็กชาย” , “เด็กหญิง” นับว่าเป็นพัฒนาการทางสังคมอีกก้าวหนึ่งของสังคมไทย
หมายเหตุ : เดิมบทความนี้ผมมอบให้เว็บไซต์ตะโกลาดอทคอม (www.takola.com) นำไปเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2547 และเผยแพร่ในวารสารของโรงเรียนตะกั่วป่า "เสนานุกูล"มาแล้วครั้งหนึ่ง
สวัสดีครับ
ตอบลบด้วยความยินดีที่ไปทักทายที่บล็อกครับ
เพิ่งเข้ามาที่นี่เป็สครั้งแรก
มีอะไรน่าสนใจครับ
ผมเป็นคนหนึ่งที่รักตะกั่วป่า
คราวหน้าผมกลับบ้านภรรยา คงมีโอกาสได้ทักทายกันนะครับ
เราเป็นลูกหลานสกุล พรหมภัทร์ อ่า :}
ตอบลบมีหลักฐานพร้อมรายละเอียดของสกุล ศกุนตะลักษณ์ครับ (ผู้รั้งราชการเมืองตะกั่วป่า ปี 2459 ) pote@wdtn.net อยากได้ รายละเอียด เมลมาได้นะครับ
ตอบลบพจน์ ศกุนตะลักษณ์
นาย วัชรินทร์ จันทนานนนท์ เกิน ๒๕๔๐
ตอบลบ