ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พระบรมสารีริกธาตุที่วัดพระธาตุคีรีเขต (วัดลุ่ม) อ.ตะกั่วป่า



เอกสารหลักฐานของทางกรมศิลปกรที่ระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ที่วัดลุ่ม และได้พบพระพุทธรูปหินหยกซ้อนหลังพระประธาน

พบหลักฐานวัดลุ่มเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พบความแปลกมีพระพุทธรูปหินหยกซ้อนอยู่หลังพระประธาน เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดพังงา ได้รายงานว่าในช่วงระหว่างที่ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา โดยความรับผิดชอบของอีโคเขาหลักแอ็ดเวนเจอร์ ได้พาสื่อมวลชนจากส่วนกลาง จาก7จังหวัดภาคใต้ตอนล่างและจากภูเก็ต-พังงา เดินทางเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ตามโปรแกรมที่เกี่ยวกับงานเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ในระหว่างที่เข้าชมวัดคีรีเขต(วัดลุ่ม) ตั้งอยู่ ตลาดใหญ่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา

พระครูศรีปริยัตยากร(จิตติ ส.ภัทรปราณี) เจ้าคณะอำเภอตะกั่วป่า จ.พังงาและเจ้าอาวาสวัดคีรีเขต ได้กล่าวถึงเรื่องราวของวัดฯให้ฟัง โดยในตอนหนึ่งได้นำเอาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เป็นหนังสือตอบจากกรมศิลปกร ลงวันที่ 22 มกราคม 2551 มาเปิดเผยให้กับสื่อมวลได้รับรู้ โดยหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการตอบเกี่ยวกับเรื่อง ที่ทางจังหวัดพังงาได้สอบถามถึงประวัติการก่อสร้างของศาลหลักเมืองพังงา โดยผู้ลงนามในหนังสือฉบับดังกล่าวคือนางสมลักษณ์ เจริญผล รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศิลปกร ตามเอกสารดังกล่าวมีอยู่ข้อความหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า


“อนึ่ง แม้ว่าจังหวัดพังงาจะไม่ปรากฏข้อมูลเรื่องการสร้างหลักเมืองมาก่อน แต่พบหลักฐานว่า ที่วัดคีรีเขต ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งมงคลสูงสุดคู่บ้านคู่เมือง ที่ชาวพังงาควรภาคภูมิใจประการหนึ่ง”


พระครูศรีปริยัตยากรได้กล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุ เดิมทีไม่ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งนี้ อยู่ที่เจ้าเมืองตะกั่วป่า อยู่นานเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ ต่อมาเจ้าเมืองตะกั่วป่านึกขึ้นได้ว่า เราเป็นเจ้าเมือง เป็นเจ้าหน้าที่ แต่สมบัตินี้ไม่ใช่ของเจ้าเมือง ไม่ใช่ของส่วนตัวแต่เป็นของเมือง และก็เกรงว่าต่อไปลูกหลานจะไปแย่งชิงมรดก จึงได้พาพระบรมสารีริกธาตุมาไว้ที่วัดคีรีเขต(วัดลุ่ม) ซึ่งเอามาไว้นานเท่าไหร่ก็ไม่ทราบ


ในหนังสือตอบของกรมศิลปกร ในตอนหนึ่งยังได้กล่าวถึงวัดลุ่มไว้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นมาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2436 ตรงกับรัชกาลสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นพระอารามแห่งแรกของเมืองตะกั่วป่า เดิมเป็นวัดอารามฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีชื่อเรียกหลายชื่อคือวัดควน ป้อม วัดควนชายเขา วัดควนเจดีย์ วัดลุ่มหรือวัดคีรีเขต


นอกจากนี้ที่อุโบสถหลังใหม่ของวัดลุ่ม ยังมีความแปลกก็คือจะมีพระพุทธรูปหินหยกขาว ซ้อนอยู่ด้านหลังขององค์พระประธาน คนที่จะเข้าไปดูจะเดินเข้าไปได้ที่ละหนึ่งคน

ที่มา ; จากหนังสือพิมพ์เสียงใต้ 13 พ.ย. 2551


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น