ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

นามสกุลพระราชทานในจังหวัดพังงา



จากผู้เขียน
บทความ ใช้นามปากกาว่า ทศพรรษ พชร ซึ่งบทความส่วนใหญ่จะเขียนเรื่องทางวรรณคดี และได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือ ต่วยตูน มาแล้ว หลายฉบับอาทิเช่น เรื่อง
  • ร้อยเรื่องเมืองตะกั่วป่า
  • บรรยากาศงานแสดงการบินครั้งแรกในสยามที่ปรากฏในวรรณกรรมไทย
  • นามสกุลพระราชทานใน จ.พังงา

"นามสกุลพระราชทานใน จ.พังงา"


อย่างที่ตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า "นามสกุลพระราชทานใน จ.พังงา" จะกล่าวถึงเรื่องนามสกุลพระราชทานในจังหวัดพังงา ก็อาศัยจากการตั้งสมมติฐานเอาว่าในเมื่อเมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีความเจริญสูงในอดีต มีพระมหากษัตริย์ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯหลายครั้ง ก็น่าที่จะมีผู้คนได้รับหรือขอพระราชทานนามสกุลบ้างเป็นแน่


สาเหตุที่ผมขยายฐานการค้นคว้าเป็นระดับจังหวัดเพราะว่าคนสมัยก่อนนิยมการมีลูกมากประกอบกับการกระจายตัวของประชากรในปัจจุบันมีอัตราสูงขึ้น ลูกหลานของคนเหล่านั้นตอนนี้อาจจะมีอยู่ทั่วสารทิศ ไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในเมืองตะกั่วป่าเท่านั้นและอาจจะไม่ทราบเสียด้วยซ้ำว่าบรรพบุรุษของตนมีความเป็นมาอย่างไร
ขอเท้าความก่อนว่าก่อนที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พุทธศักราช 2456 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 22 มีนาคม 2455 นั้นคนไทยยังไม่มีนามสกุล หากจะกล่าวถึงบุคคลใดก็มักจะกล่าวถึงจุดเด่นของบุคคลนั้นใน 5 ลักษณะ คือ

  • ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ใด เช่น ตามีบ้านบุ , นางนากพระโขนง
  • จุดเด่นในร่างกาย เช่น ยายน้อยค่อม , นายจันหนวดเขี้ยว
  • การประกอบอาชีพ เช่น จีนยูช่างทำฟัน , นายหรีดเปรียญ , หลวงโอสถนอกราชการ
  • สมญานามหรือฉายา เช่น บุษบาท่าเรือจ้าง , แมวอิเหนา
  • เท้าความถึงวงศาคณาญาติ เช่น อ้ายมิ่งลูกตามา , นายแช่มบุตรหลวงเทพฯ

หลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวก็เป็นหน้าที่ของข้าราชการและชาวบ้านในการมาขึ้นทะเบียนนามสกุลของตนโดยอาจให้เจ้าหน้าที่คิดให้


นามสกุลนั้นต้องมีความหมายดีเป็นสิริมงคลเช่นเดียวกับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลและลูกหลานที่จะใช้สืบต่อไป นอกจากจะให้เจ้าหน้าที่ตั้งให้ บางคนก็อาจจะให้พระสงฆ์ที่เคารพนับถือตั้งให้ นอกจากนี้บรรดาข้าราชบริพารใกล้ชิดและประชาชนทั่วไปหรือคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มักทูลขอพระราชทานนามสกุลจากพระองค์หรือพระองค์พระราชทานให้เองก็มี โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างชัดเจน


ต่อมาคุณเทพ สุนทรศารทูลได้รวบรวมจัดพิมพ์ไว้เป็นหนังสือชื่อ “นามสกุลพระราชทาน 6,432 สกุล” นับว่าเป็นจำนวนมากทีเดียว


นามสกุลแรกของไทยนั้นทรงพระราชทานให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น) เสนาบดีกระทรวงนครบาล พระราชทานนามสกุลว่า “สุขุม” ประกาศวันที่ 23 มิถุนายน 2456 ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 30 ภาค 1
นามสกุลสุดท้ายคือลำดับที่ 6,432 นั้นทรงพระราชทานให้นายประดิษฐ์ ผู้ช่วยนายเวรกรมบัญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ พระราชทานนามสกุลว่า “ตันตริยานนท์” ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2468 ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 42 ภาค 1 หน้า 1,392


และในจำนวนนามสกุลทั้งหมดนี้พบนามสกุลพระราชทานในจังหวัดพังงาทั้งสิ้น 21 นามสกุลด้วยกันดังนี้ ( ตัวเลขด้านหน้าคือลำดับที่ของนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน-ผู้เขียน)

  1. 2307 รองอำมาตย์เอก ขุนประสาตร์เวชสาร (สาย)แพทย์ประจำเมืองตะกั่วป่า พระราชทานนามสกุลว่า “กาลเศรณี”
  2. 2309 รองอำมาตย์โท หลวงนรเทศภักดี (คล้าย)ปลัดเมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “สิงหเสม”
  3. 2310 รองอำมาตย์โท ขุนอานุภาพภักดี (วัน)ยกกระบัตรเมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต กับนายเพียร แลนายพิณ ยกกระบัตรเมืองพัทลุง แลนายรุ่น น้อง พระราชทานนามสกุลว่า “พฤกษะศรี”
  4. 2311 รองอำมาตย์โท ขุนถลางเถลิงศักดิ์ (เพิ่ม)ปลัดเมืองพังงา มณฑลภูเก็ต กับนายสาย บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “กนิษฐายน”
  5. 2323 รองอำมาตย์เอก หลวงกระบินทน์ธุรารักษ์ (จร)ผู้รั้งราชการเมือง เมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “ศกุนตลักษณ”
  6. 2326 รองอำมาตย์โท หลวงโลหภูมิพิทักษ์ (หนูวงษ์) นายอำเภอตะกั่วทุ่ง มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “เศวตะดุล”
  7. 2328 รองอำมาตย์โท หลวงพินิจอักษร (ท้วม) กรมการพิเศษเมืองพังงา มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “จันทนานนท์”
  8. 2331 รองอำมาตย์ตรี ขุนชำนาญชนานุวัตร (เน้า) นายอำเภอทุ่งมะพร้าว เมืองพังงา มณฑลภูเก็ต กับขุนสนิทภักดี (เพรา)บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “พรหมภัทร์”
  9. 2353 รองอำมาตย์ตรี ปั้น นายอำเภอปากน้ำเมืองตะกั่วป่า มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “สวัสดิสิงห์”
  10. 2356 รองอำมาตย์โท ขุนปลูกนิสัยเหมาะ (ฉัย) ธรรมการเมืองพังงา กับนายปุ่น บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “ยวนะปุณฑ์”
  11. 2358 รองอำมาตย์โท ผล ธรรมการเมืองตะกั่วป่า กับนายฟัก บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “สุวรรณภัค”
  12. 2835 นายหมู่โท เพียร ผู้กำกับลูกเสือภูเก็ตที่ 4 บริรักษ์บำรุง เมืองพังงา มณฑลภูเก็ต พระราชทานนามสกุลว่า “บุณยะผลึก”
  13. 3897 นายร้อยตำรวจโท กล๊ะ ผู้บังคับกองตำรวจภูธรจังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “ลัญชานนท์”
  14. 3907 รองอำมาตย์โท ขุนบริบาลธนกิจ (แช่ม) พนักงานคลังจังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “จินตะนานุช”
  15. 3945 รองอำมาตย์เอก หลวงราชอาญัติ (กล่อม) ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตะกั่วป่า พระราชทานนามสกุลว่า “ประทีป ณ ถลาง”
  16. 4382 ผู้กำกับโท ทรัพย์ ครูใหญ่โรงเรียนเสนานุกูล จังหวัดตะกั่วป่า กับนายดำ ปู่ นายเผือก บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “ยูวนะวัต”
  17. 4383 ผู้กำกับโท เล็ก ครูใหญ่โรงเรียนบริรักษ์บำรุง จังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “ฐิโตปะการ”
  18. 4386 รองผู้กำกับโท เกียรติ์ ครูประจำโรงเรียนบริรักษ์บำรุง จังหวัดพังงา กับนายตู้ บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “ บุณะกานนท์”
  19. 4711 รองผู้กำกับโท กฤติน ครูผู้ตรวจอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “บุญลิปตานนท์”
  20. 4712 รองผู้กำกับโท เจษฏ์ ครูผู้ตรวจการอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พระราชทานนามสกุลว่า “อันติมานนท์”
  21. 4763 นายหมู่ลูกเสือโท เพน ครูผู้ตรวจการอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา กับนายกลิ่น บิดา พระราชทานนามสกุลว่า “กันธานนท์”

จากการศึกษานี้พบว่าในปัจจุบันนั้นบางนามสกุลไม่ปรากฏในตะกั่วป่าหรือจังหวัดพังงาแล้วก็มี บางนามสกุลยังพบอยู่แต่หาผู้ที่จะเล่าถึงความเป็นมาของบุคคลในตระกูลได้ยาก บางนามสกุลกลับไปพบในจังหวัดที่ห่างไกลจากจังหวัดพังงาเสียด้วยซ้ำ ทราบมาว่าที่สถาบันราชภัฏภูเก็ตมีการรวบรวมรายชื่อนามสกุลพระราชทานของจังหวัดไว้ที่ศูนย์วัฒนธรรมโดยจัดเป็นแผ่นป้ายจารึกไว้เลยทีเดียว นับว่าเป็นการนำเสนอที่น่าสนใจและสร้างความภาคภูมิใจแก่ลูกหลานในตระกูลอย่างยิ่ง


ตามปกติแล้วในการพระราชทานนามสกุลนั้นจะมีใบประกาศนามสกุลพระราชทานแผ่นหนึ่งมอบให้กับผู้ได้รับพระราชทานด้วย (เคยเห็นใบประกาศพระราชทานนามสกุล “หงสกุล”แก่พระยาสามภพพ่าย ซึ่งทายาทยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่ทราบเหมือนกันว่าทายาทของผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลในจังหวัดพังงาเหล่านี้จะยังคงเก็บรักษาไว้หรือไม่)


นอกจากการประกาศให้คนไทยใช้นามสกุลแล้ว ต่อมาพระองค์ยังทรงเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นด้วย คือ ให้ใช้ “พุทธศักราช” แทน “รัตนโกสินทรศก” เปลี่ยนแปลงการนับเวลาของทางราชการแบบใหม่ให้สอดคล้องกับสากลนิยม โดยถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ กำหนดคำนำหน้านามสตรีที่ยังไม่แต่งงานว่า “นางสาว” แทนคำว่า “อำแดง” และสตรีที่มีสามีแล้วว่า “นาง” กำหนดคำนำหน้านามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีว่า “เด็กชาย” , “เด็กหญิง” นับว่าเป็นพัฒนาการทางสังคมอีกก้าวหนึ่งของสังคมไทย


หมายเหตุ : เดิมบทความนี้ผมมอบให้เว็บไซต์ตะโกลาดอทคอม (www.takola.com) นำไปเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2547 และเผยแพร่ในวารสารของโรงเรียนตะกั่วป่า "เสนานุกูล"มาแล้วครั้งหนึ่ง

4 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ

    ด้วยความยินดีที่ไปทักทายที่บล็อกครับ
    เพิ่งเข้ามาที่นี่เป็สครั้งแรก
    มีอะไรน่าสนใจครับ
    ผมเป็นคนหนึ่งที่รักตะกั่วป่า
    คราวหน้าผมกลับบ้านภรรยา คงมีโอกาสได้ทักทายกันนะครับ

    ตอบลบ
  2. เราเป็นลูกหลานสกุล พรหมภัทร์ อ่า :}

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ30 ตุลาคม 2556 เวลา 06:14

    มีหลักฐานพร้อมรายละเอียดของสกุล ศกุนตะลักษณ์ครับ (ผู้รั้งราชการเมืองตะกั่วป่า ปี 2459 ) pote@wdtn.net อยากได้ รายละเอียด เมลมาได้นะครับ

    พจน์ ศกุนตะลักษณ์

    ตอบลบ
  4. นาย วัชรินทร์ จันทนานนนท์ เกิน ๒๕๔๐

    ตอบลบ