ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม...ที่นี่

Custom Search

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

อวดภาพสวยชุดพื้นเมืองชาวตะกั่วป่า-ภูเก็ต


ย่าหยา หรือชาวจีนภูเก็ตเรียกว่า ปั่วตึ่งเต่ ที่แปลว่า ครึ่งสั้น ครึ่งยาว ชาวปีนังเรียกว่า ชุดเคบาย่า เป็นชุดการแต่งกายทางชาวพื้นเมืองดั้งเดิมภูเก็ต ปัจจุบันการแต่งกายชุดย่าหยา ถือว่าเป็นการแต่งกายที่งดงาม แสดงออกถึงความสวยงามของความเป็นกุลสตรีภูเก็ต ในงานสำคัญ ๆ เช่น งานบุญ งานประเพณีต่าง ๆ อาทิ งานแต่งงาน งานบวช งานประเพณีกินผัก งานวันปีใหม่ หรืองานตรุษสงกรานต์ จะมีโอกาสได้เห็นสตรีภูเก็ตแต่งกายชุดย่าหยา ที่งามสง่าน่าพิศ น่ามองเป็นที่ประทับใจยิ่งของผู้ได้พบเห็น

ย่าหยา แต่เดิมนั้น เป็นชุดแต่งกายของผู้หญิงชาวภูเก็ต ซึ่งปรับปรุงพัฒนามาจากชุดครุย ซึ่งเป็นชุดแต่งกายของเจ้าสาวในประเพณีดั้งเดิมของคนจีนที่มาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ในเกาะภูเก็ต ชุดครุยนั้น เป็นชุดที่ต้องสวมใส่หลายชั้น หลายชิ้น อาจไม่คล่องตัวและไม่เหมาะกับอากาศในบ้านเมืองแถบนี้ จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายให้กระฉับกระเฉงและโปร่งสบายขึ้นตามความเหมาะสม หากแต่ยังคงความงามและสร้างเสน่ห์ให้ผู้สวมใสไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย

เสื้อย่าหยาในสมัยแรก จะเป็นผ้าโปร่งสีพื้นปลายเสื้อด้านหน้าแหลมยาวเกือบถึงตัก แต่ด้านหลังจะสั้นประมาณเอว เข้ารูปเล็กน้อยไม่ถึงกับรัดรูป ชายเสื้อ ปลายแขนเสื้อ ขอบปกและคอเสื้อติดลูกไม้ถักดูอ่อนหวาน เป็นงานฝีมือของสาว ๆ ที่ต้องเรียนรู้วิชาเย็บปักถักร้อยไว้สำหรับเย็บเสื้อใส่เอง กระดุมติดเสื้อแบบโบราณจะใช้กระดุมชุด 3 ตัว มีลักษณะเป็นเข็มกลัดมีสายสร้อยเชื่อมต่อกัน ทำด้วยทอง ทองเหลือง หรือนาก ในสมัยต่อมา ลายปักของเสื้อย่าหยา มักเป็นลวดลายของดอกไม้งาม ตามวัฒนธรมตะวันออกที่มักเปรียบผู้หญิงเป็นดอกไม้ อีกทั้งดอกไม้ยังแทนความเป็นธรรมชาติและมีความหมายที่แตกต่างกัน เช่น ดอกกุหลาบแทนหญิงสาวในวัยที่งามเปล่งปลั่งเต็มที่ เช่นเดียวกับดอกมะลิซึ่งมีกลิ่นหอม ดอกบัวหมายถึงความงามบริสุทธิ์ผ่องใส ดอกเชอร์รี่ที่จะบานเฉพาะในฤดูใบไม้ผลิแทนความงามของสาวรุ่น ดอกเบญจมาศแทนความยั่งยืนมั่นคงและความเป็นผู้ใหญ่ ดอกกล้วยไม้เป็นความงามแบบลึกลับ เป็นต้น

เสื้อย่าหยาในยุคปัจจุบัน จะตัดเย็บเข้ารูป เน้นความงามและสัดส่วนของผู้สวมใส่มากขึ้น ส่วนผ้าถุงนั้นยังคงเป็นผ้าปาเต๊ะเนื้อดี สีเข้ากับเสื้อ หรืออาจเป็นสีที่ช่วยขับให้เสื้อดูเด่นขึ้น

ปัจจุบันสตรีภูเก็ตนิยมสวมใส่ชุดย่าหยามากขึ้น ทำให้สตรีภูเก็ตมีความงามเป็นเอกลักษณ์ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะของชนชาวภูเก็ตที่ไม่มีวันจางหายไปกับเสื้อผ้ายุคปัจจุบันที่หาเอกลักษณ์ไม่ค่อยพบ
คุณค่าของย่าหยา คือคุณค่าของมรดกในวันวาน แม้จะเป็นอดีต แต่เป็นอดีตที่รุ่งเรืองมากค่าด้วยวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น และยังส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นไม่เคยหยุดนิ่ง หรือขาดตอนขาดช่วงไป

ถ้าสภาพสตรีภูเก็ตโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะช่วยกันรักษาชุดย่าหยาให้เป็นมรดกที่สืบต่อชั่วลูกชั่วหลาน ก็จะยิ่งสร้างคุณค่าแห่งวัฒนธรรมการแต่งกายอันงดงามยิ่งนี้ตลอดไป


ขอขอบคุณ Daung_ta's photostream ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบบทความ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น